Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 388 (พ.ศ. 2566) การยกเว้นรัษฎากร มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐในปีภาษี 2565

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 388 (พ.ศ. 2566)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กำหนดให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใด และค่าตอบแทนจากภาครัฐ ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

(1) เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ค่าสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ ค่ารถเช่าหรือเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยวหรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

(2) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าเดินทางและค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยวตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย

(3) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

(4) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5

(5) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3

(6) ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ ามันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ

(7) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

(8) ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

(9) ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาลตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี พ.ศ. 2565

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

________________________________________

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้จัดให้มีเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากภาครัฐเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้แก่ประชาชนตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการทัวร์เที่ยวไทย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 โครงการเพิ่มก าลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 โครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมควรกำหนดให้เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใด และค่าตอบแทนที่ผู้มีเงินได้ได้รับในปีภาษี พ.ศ. 2565 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)