Skip to Content

หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาใช้

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาใช้


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างย้ายระบบงานคอมพิวเตอร์ และจัดหาอุปกรณ์เพื่อ

ติดตั้งทำการฝึกอบรมและทำ Data Conversion ให้กับ ก. ในระหว่างปฏิบัติงานตาม

สัญญาได้มีการยกเลิกระบบงานบางส่วนและมีการลดมูลค่าค่าจ้างลงคงเหลือเป็นเงิน

ค่าจ้าง จำนวน 58,820,682 บาท เมื่อบริษัทฯ ปฏิบัติงานตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้วจึง

เรียกเก็บค่าจ้าง แต่เนื่องจากบริษัทฯ ปฏิบัติผิดข้อสัญญารับจ้าง ก. จึงได้คิดค่าปรับ

เป็นเงิน 1,852,281 บาท ซึ่ง ก. ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างโดยหักเงินค่าปรับ

จำนวนดังกล่าวกับได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 549,726 บาท ออกแล้ว

คงเหลือเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ เป็นเงิน 56,418,675 บาท พร้อมกันนี้ ก. ได้ออก

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 30 กันยายน 2546 และ ก. ได้นำเงิน

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้นี้ส่งกรมสรรพากรแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2546 แต่

บริษัทฯ ไม่ยอมรับเช็คจาก ก. เพราะบริษัทฯ ได้โต้แย้งก. ว่า จำนวนเงินค่าปรับที่

ได้หักไว้นั้นไม่ถูกต้อง และขอลดค่าปรับลง ซึ่ง ก. ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ

บริษัทฯ แล้วได้ยินยอมลดเงินค่าปรับลงและได้แจ้งให้บริษัทฯ ไปรับคืนในภายหลัง

แต่ ก. ปฏิเสธที่จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายฉบับใหม่ให้สำหรับจำนวน

เงินค่าจ้างจำนวนใหม่ที่ ก. ได้พิจารณาลดค่าปรับให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ จึงขอทราบ

ว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2546 บริษัทฯ จะ

นำมาเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีปี 2547 (รอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม 2546

ถึง 30 กันยายน 2547) ได้หรือไม่ และการที่ ก. ได้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้

หักไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ส่งกรมสรรพากรในเดือนตุลาคม 2546 ทั้งที่มีการ

ชำระเงินค่าจ้างกันจริงในปี 2547 เป็นการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 50 ทวิ (3) มาตรา 52 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างกับ ก. เพื่อทำการย้ายระบบงานคอมพิวเตอร์

และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก. ซึ่งมีฐานะเป็นองค์การของรัฐบาลและเป็นผู้

จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทฯ มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ

ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าจ้างที่ตกลงตามสัญญา ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง

ประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปี

ภาษีนั้นให้แก่ผู้มีเงินได้ในทันทีทุกครั้งที่มีการจ่าย และให้นำเงินภาษีที่ได้หักไว้

ไปส่งและยื่นรายการ ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่

จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ว่าจะได้หักภาษีไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ (3) และมาตรา

52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยาย

กำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่ง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งในกรณีที่มี

การชำระเงินด้วยเช็คผู้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายจะต้องคำนวณหักภาษีตาม

วันที่ที่ลงในเช็ค ดังนั้น เมื่อ ก. ได้ออกเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2546 เพื่อชำระเงิน

ค่าจ้างตามสัญญา ก. จึงมีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามวันที่ที่ลงในเช็ค

พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมอบให้แก่บริษัทฯ แล้ว ก. จึง

นำส่งภาษีเงินได้ที่ได้หักไว้ยังอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จ่ายเงิน และบริษัทฯ มี

สิทธินำไปถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ได้ในรอบระยะเวลา

บัญชีที่หักไว้นั้น ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัทฯ ปฏิเสธไม่รับเช็คและไม่ยอมรับหนังสือรับรองการหักภาษี

ณ ที่จ่ายที่ ก. ได้ออกให้เพื่อชำระค่าจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 อันเป็นผลให้

บริษัทฯ ไม่ได้นำเงินค่าจ้างมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีและไม่ได้นำภาษีที่

ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 ซึ่ง

ที่ถูกต้องแล้วบริษัทฯ จะต้องนำเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้

ในการเสียภาษีตามหลักเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ

บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นผลทำให้จำนวนเงินได้ใน

การคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลคลาดเคลื่อนและเป็นผลทำให้จำนวนเงิน

ภาษีที่คำนวณได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องปรับปรุงรายการและยื่น

แบบแสดงรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 ให้ถูกต้องต่อไป




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/8/8767 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2548

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)