บริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างย้ายระบบงานคอมพิวเตอร์ และจัดหาอุปกรณ์เพื่อ
ติดตั้งทำการฝึกอบรมและทำ Data Conversion ให้กับ ก. ในระหว่างปฏิบัติงานตาม
สัญญาได้มีการยกเลิกระบบงานบางส่วนและมีการลดมูลค่าค่าจ้างลงคงเหลือเป็นเงิน
ค่าจ้าง จำนวน 58,820,682 บาท เมื่อบริษัทฯ ปฏิบัติงานตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้วจึง
เรียกเก็บค่าจ้าง แต่เนื่องจากบริษัทฯ ปฏิบัติผิดข้อสัญญารับจ้าง ก. จึงได้คิดค่าปรับ
เป็นเงิน 1,852,281 บาท ซึ่ง ก. ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างโดยหักเงินค่าปรับ
จำนวนดังกล่าวกับได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 549,726 บาท ออกแล้ว
คงเหลือเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ เป็นเงิน 56,418,675 บาท พร้อมกันนี้ ก. ได้ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 30 กันยายน 2546 และ ก. ได้นำเงิน
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้นี้ส่งกรมสรรพากรแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2546 แต่
บริษัทฯ ไม่ยอมรับเช็คจาก ก. เพราะบริษัทฯ ได้โต้แย้งก. ว่า จำนวนเงินค่าปรับที่
ได้หักไว้นั้นไม่ถูกต้อง และขอลดค่าปรับลง ซึ่ง ก. ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ
บริษัทฯ แล้วได้ยินยอมลดเงินค่าปรับลงและได้แจ้งให้บริษัทฯ ไปรับคืนในภายหลัง
แต่ ก. ปฏิเสธที่จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายฉบับใหม่ให้สำหรับจำนวน
เงินค่าจ้างจำนวนใหม่ที่ ก. ได้พิจารณาลดค่าปรับให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ จึงขอทราบ
ว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2546 บริษัทฯ จะ
นำมาเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีปี 2547 (รอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม 2546
ถึง 30 กันยายน 2547) ได้หรือไม่ และการที่ ก. ได้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้
หักไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ส่งกรมสรรพากรในเดือนตุลาคม 2546 ทั้งที่มีการ
ชำระเงินค่าจ้างกันจริงในปี 2547 เป็นการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่
1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างกับ ก. เพื่อทำการย้ายระบบงานคอมพิวเตอร์
และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก. ซึ่งมีฐานะเป็นองค์การของรัฐบาลและเป็นผู้
จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทฯ มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าจ้างที่ตกลงตามสัญญา ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปี
ภาษีนั้นให้แก่ผู้มีเงินได้ในทันทีทุกครั้งที่มีการจ่าย และให้นำเงินภาษีที่ได้หักไว้
ไปส่งและยื่นรายการ ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่
จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ว่าจะได้หักภาษีไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ (3) และมาตรา
52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยาย
กำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งในกรณีที่มี
การชำระเงินด้วยเช็คผู้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายจะต้องคำนวณหักภาษีตาม
วันที่ที่ลงในเช็ค ดังนั้น เมื่อ ก. ได้ออกเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2546 เพื่อชำระเงิน
ค่าจ้างตามสัญญา ก. จึงมีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามวันที่ที่ลงในเช็ค
พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมอบให้แก่บริษัทฯ แล้ว ก. จึง
นำส่งภาษีเงินได้ที่ได้หักไว้ยังอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จ่ายเงิน และบริษัทฯ มี
สิทธินำไปถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ได้ในรอบระยะเวลา
บัญชีที่หักไว้นั้น ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ปฏิเสธไม่รับเช็คและไม่ยอมรับหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่ายที่ ก. ได้ออกให้เพื่อชำระค่าจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 อันเป็นผลให้
บริษัทฯ ไม่ได้นำเงินค่าจ้างมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีและไม่ได้นำภาษีที่
ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 ซึ่ง
ที่ถูกต้องแล้วบริษัทฯ จะต้องนำเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้
ในการเสียภาษีตามหลักเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ
บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นผลทำให้จำนวนเงินได้ใน
การคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลคลาดเคลื่อนและเป็นผลทำให้จำนวนเงิน
ภาษีที่คำนวณได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องปรับปรุงรายการและยื่น
แบบแสดงรายการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 ให้ถูกต้องต่อไป
Article Number: 701
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/หนังสือรับรองหัก-ณ-ที่จ่าย-ภาษีเงินได้นิติบุคคล-กรณีการนำหนังสือรับรองการหักภาษี-ณ-ที่จ่ายมาใช้-701.html