บริการ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีข้อเท็จจริงบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิตสุรา ได้จัดตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นภายในบริษัทฯ และได้ยื่นคำขอให้เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3) เรื่อง กำหนดหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง บริษัทฯ ขอหารือกรณีหน่วยงานวิจัยฯ ได้ให้บริการทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใน "โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบสำหรับยกลังขวดเปล่าแบบชนิดที่ติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed Robot)" (โครงการวิจัยฯ) ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การรับรองว่าเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ป.103/2544 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 แก่บริษัทฯ เอง ว่า 1.กรณีหน่วยงานวิจัยฯ ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่บริษัทฯ ตามข้อ 6 (ข) ของประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3)ฯ ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 เมื่อหน่วยงานวิจัยฯ ออกใบรับเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่บริษัทฯ เอง และหน่วยงานวิจัยฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ใช่หรือไม่ 2.กรณีโครงการวิจัยฯ มีกำหนดเวลาในการดำเนินโครงการเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของงานที่ทำเสร็จในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี หรือจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่าย ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดโครงการทั้งจำนวน และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบรับและใบกำกับภาษีอย่างไร 3.กรณีบริษัทฯ ยื่นคำขอให้ สวทช. รับรองโครงการวิจัยฯ โดยระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจำนวน 1,500,500 บาท แต่ สวทช. แจ้งว่าค่าใช้จ่ายที่ สวทช. เห็นว่าเหมาะสมมีจำนวน 1,364,641.57 บาท บริษัทฯ มีสิทธิบันทึกบัญชีทรัพย์สินจำนวน 1,500,500 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของรายจ่ายเป็นจำนวน 2,729,283.50 บาท (1,364,641.75 x 2) ใช่หรือไม่ และต่อมาภายหลังจากที่ สวทช. ได้รับรองโครงการวิจัยฯ แล้ว บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการวิจัยฯ เพิ่มขึ้นบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยฯ ในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ 4.กรณีบริษัทฯ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ไปแล้ว ต่อมาบริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรต้นแบบที่เกิดจากโครงการวิจัยฯ ไปใช้ผลิตสินค้าหรือขายให้แก่บุคคลอื่น จะถือว่าบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน จำนวน 2,729,283.50 บาท หรือไม่ จะต้องรับผิดชำระภาษีและเงินเพิ่มหรือไม่ อย่างไร 5.กรณีหน่วยงานวิจัยฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยฯ ไปก่อนที่จะได้ยื่นเสนอโครงการวิจัยฯ ให้ สวทช. รับรอง บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 สำหรับรายจ่ายดังกล่าวหรือไม่ และหากได้มีการดำเนินโครงการวิจัยฯ ที่ สวทช. ให้การรับรองแล้ว แต่ต่อมาโครงการวิจัยฯ ประสบความล้มเหลว ไม่ได้ดำเนินการต่อ บริษัทฯ จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ใช่หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 77/1 (10) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1.กรณีตาม 1 บริษัทฯ มีรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานวิจัยฯ ของบริษัทฯ ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นผู้รับทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 บริษัทฯ จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ของบริษัทฯ เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าว โดยหน่วยงานวิจัยฯ มีหน้าที่ต้องออกใบรับให้แก่บริษัทฯ เสมือนเป็นการรับทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้บุคคลอื่น ตามข้อ 6 (ข) ของประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3)ฯ ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 กรณีหน่วยงานวิจัยฯ ให้บริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการใช้บริการเพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง และเป็นการใช้ในกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจึงไม่เป็นบริการตามความหมายของมาตรา 77/1 (10) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1 (10) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 2.กรณีตาม 2 และ 3 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 บริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดและต้องเป็นรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง ไปลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนมากหรือน้อยกว่ารายจ่ายที่ สวทช. เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมก็ตาม และหน่วยงานวิจัยฯ จะต้องออกใบรับให้แก่บริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายนั้นด้วย 3.กรณีตาม 4 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จะต้องเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการวิจัยและพัฒนาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในข้อ 4 (ก) (ข) ของประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3)ฯ ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 สรุปได้ว่า ต้องเป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานโดยมุ่งที่จะค้นพบความรู้ใหม่ หรือเป็นการวิจัยเชิงประยุกต์ซึ่งนำผลการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาใช้เป็นแบบแผน แบบพิมพ์เขียว หรือแบบแปลนฯ และรวมถึงการประดิษฐ์ต้นแบบครั้งแรก บริษัทฯ ซึ่งได้จ่ายค่าจ้างจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าว ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าจ้างส่วนที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ต้นแบบครั้งแรก ซึ่งนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรต้นแบบที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปใช้ผลิตสินค้าหรือขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการกระทำในเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 เฉพาะส่วนของค่าจ้างที่จัดสร้างเครื่องจักรต้นแบบนั้น ซึ่งหากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้เพื่อปรับปรุงรายการดังกล่าว พร้อมทั้งเสียภาษีเงินได้และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร 4.กรณีตาม 5 กรณีหน่วยงานวิจัยฯ ได้เริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปก่อนที่จะได้ยื่นโครงการวิจัยฯ ต่อ สวทช. หาก สวทช. ให้การรับรองว่าโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวเป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 สำหรับรายจ่ายดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 แต่หากหน่วยงานวิจัยฯ ไม่ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามจริงที่ได้รับการตรวจสอบและการรับรองจาก สวทช. บริษัทฯ จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 สำหรับรายจ่ายดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/1693 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2557 |