Skip to Content

ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ มีสถานประกอบการ กรุงเทพฯ ซึ่งเช่าสถานประกอบการจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ. (ห้างฯ) เพื่อใช้เป็น สถานประกอบการโรงแรมและภัตตาคาร และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ห้างฯ มีสถานประกอบการ กรุงเทพฯ ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ห้างฯ ได้ให้บริษัทฯ เช่าอาคาร ซึ่งเป็นสถานประกอบการของห้างฯ และรายได้จากค่าเช่าอาคารดังกล่าวเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของห้างฯ

3. เนื่องจากบริษัทฯ และห้างฯ มีผู้ถือหุ้นและผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นบุคคลเดียวกัน จึงประสงค์ที่จะควบรวมกิจการ ซึ่งบริษัทฯ จะรับโอนกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของห้างฯ โดยห้างฯ ผู้โอนกิจการจดทะเบียนเลิกห้างฯ และมีการชำระ บัญชีภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น

บริษัทฯ จึงขอหารือว่า

1. กรณีบริษัทฯ ผู้รับโอนกิจการจะต้องแจ้งการรับโอนกิจการต่อกรมสรรพากรหรือไม่ และมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง ที่ดิน อาคารและส่วนควบที่ได้รับโอนทั้งหมด บริษัทฯ จะถือเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ได้หรือไม่

2. กรณีห้างฯ ผู้โอนกิจการจะมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง มูลค่าทรัพย์สิน ที่ดิน อาคารและส่วนควบที่ได้โอนให้แก่ บริษัทฯ ห้างฯ จะต้องถือเป็นรายได้และจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ การทำนิติกรรมโอนที่ดิน อาคารและส่วนควบ ณ สำนักงานที่ดิน จะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์หรือไม่ และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ห้างฯ จ่ายคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน หลังจากจดทะเบียนเลิกและเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับยกเว้นภาษี และห้างฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(4)(ฉ) มาตรา 50(2) มาตรา 74(1)(ข)(ค) และมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีห้างฯ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้โอนกิจการทั้งหมดให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีภาระภาษีดังนี้

1. กรณีบริษัทฯ ได้รับโอนกิจการทั้งหมดจากห้างฯ นั้น บริษัทฯ ไม่ต้องแจ้งการรับโอนกิจการต่อกรมสรรพากร แต่อย่างใด ส่วนมูลค่าของที่ดิน อาคารและส่วนควบที่ได้รับโอนจากห้างฯ โดยห้างฯ ผู้โอนกิจการได้จดทะเบียนเลิกและ มีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ห้างฯ ตีราคาของทรัพย์สินที่โอนตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ และ บริษัทฯ ผู้รับโอนต้องถือเอาราคาของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของห้างฯ ผู้โอนเดิมในวันที่รับโอนกิจการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป และมีสิทธิหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่ห้างฯ เดิมใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น และห้ามมิให้บริษัทฯ นำผลขาดทุนสุทธิของห้างฯ เดิมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามมาตรา 74 (1) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาระภาษีของห้างฯ ผู้โอนกิจการ

2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีห้างฯ ผู้โอนซึ่งได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ได้โอนทรัพย์สิน ที่ดิน อาคารและส่วนควบของห้างฯ ให้บริษัทฯ ผู้รับโอนกิจการ ห้างฯ ผู้โอนจะต้องตีราคาของทรัพย์สินที่โอนตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือ รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของห้างฯ ผู้โอน ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น ห้างฯ ผู้โอนไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74 (1) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีประเด็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีห้างฯ ผู้โอนได้โอนที่ดิน อาคารและส่วนควบที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริษัทฯ ผู้รับโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ห้างฯ มีไว้ในการประกอบกิจการมาตรา 4 (5) แห่ง พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ห้างฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

2.3 อากรแสตมป์ กรณีห้างฯ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาคารและส่วนควบที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริษัทฯ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ตาม 2.2 ใบรับจากการโอน อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรสำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามลักษณะ แห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

2.4 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีห้างฯ ผู้โอนกิจการได้จ่ายคืนเงินส่วนแบ่งกำไรให้ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างฯ หลังจากจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชี เงินดังกล่าวถือเป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่บริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือเลิกกัน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ห้างฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/5741 ลงวันที่ 03 สิงหาคม 2554

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)