ของดหรือลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีของดหรือลดเงินเพิ่ม
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีของดหรือลดเงินเพิ่มข้อเท็จจริง1.นาง จ. ได้โอนที่ดินเฉพาะส่วนของตนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ให้แก่ท่าน เป็นการให้โดยเสน่หาระหว่างพี่กับน้องไม่มีค่าตอบแทน เป็นจำนวนเงิน 37,110,500 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นจำนวนเงิน 37,110,500 บาท โดยในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินอำเภอ นาง จ. ได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนเงิน 333,882 บาท อากรแสตมป์ 185,553 บาท และค่าจดทะเบียน 742,210 บาท ตามใบเสร็จเลขที่ 12 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 2.นาง จ. ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินว่า คำนวณภาษีเงินได้จากการขายที่ดินไว้ผิดพลาด ทำให้นำส่งเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไปเป็นเงิน 3,004,931 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 90,147.93 บาท ท่านยินยอมชำระภาษีที่คำนวณไว้ผิดพลาด โดยได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 พร้อมชำระภาษีที่ชำระไว้ขาดไปเป็นจำนวนเงิน 3,004,931 บาท ส่วนเงินเพิ่มจำนวน 90,147.93 บาท ยังมิได้ชำระ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 41 ทวิ มาตรา 50 (5) มาตรา 54 มาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 27 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีที่นาง จ. ได้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือว่านาง จ. เป็นผู้มีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้รับโอนที่ดิน ได้แก่ ท่าน ซึ่งถือเป็นผู้ซื้อที่ดินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ถูกต้องครบถ้วน ท่านต้องรับผิดร่วมกับนาง จ. ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไม่ครบถ้วน เกิดจากเจ้าพนักงานที่ดินคำนวณภาษีที่ผิดพลาด เป็นเหตุให้ท่านต้องร่วมรับผิดชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มในส่วนที่นำส่งไว้ไม่ครบถ้วน โดยท่านมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวถือเป็นเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ จึงอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ออกไปถึงวันที่ 6 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ท่านชำระภาษี โดยต้องชำระเงินเพิ่มร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/5957 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 |