การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณรายจ่ายกรณีการประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณรายจ่ายกรณีการประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบธุรกิจ ให้บริการรถเช่า ซื้อรถมาเพื่อให้เช่าโดยตรง ในการคำนวณหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วย พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ให้คำนวณจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน หนึ่งล้านบาท โดยมูลค่าต้นทุนคงเหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท เมื่อ ขายทรัพย์สินแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 415) (ฉบับที่ 315) และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยบริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งล้านบาทมาเพื่อใช้ในกิจการให้เช่านั้น บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และเมื่อบริษัทฯ ได้ขายรถยนต์ดังกล่าวไป บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุน ของรถยนต์ดังกล่าวที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/1002 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2551 |