การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดรายจ่ายค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชี
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดรายจ่ายค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชีข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้หารือว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการผลิตโรลเลอร์ ซึ่งในการผลิตโรลเลอร์ บริษัทฯ จำเป็นต้องขออาศัยและใช้เทคโนโลยีการผลิตของบริษัท A จำกัด ประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯ จึงได้ทำ สัญญาการให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคในการผลิตกับบริษัท A ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 และบริษัทฯ ต้องชำระค่าธรรมเนียมทางเทคนิคให้แก่บริษัท A ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นเงินไทยทั้งสิ้น 19,262,671.06 บาท โดยบริษัทฯ ได้ลงบัญชีเป็นค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชี ตามย่อหน้าที่ 17 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 14 เรื่อง การบัญชีสำหรับการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นต้นทุนการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธีการผลิต ซึ่งไม่จำกัดอายุการใช้ จึง คำนวณหักค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ต่อมาบริษัทฯ ได้หยุดการผลิตโรลเลอร์ เนื่องจากเหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจที่ไม่สมควรจะ ทำการผลิตต่อไป เป็นการไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ เครื่องจักรที่ใช้ในสายการผลิตโรลเลอร์ดังกล่าว บริษัทฯ ก็ได้จำหน่ายไปยังต่างประเทศแล้ว เพราะไม่สามารถจำหน่ายในประเทศไทย การผลิตดังกล่าวจึงได้ยุติ ลงอย่างสิ้นเชิง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 อนึ่ง ปรากฏว่า ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 30 มิถุนายน 2542 บริษัทฯ มีค่าธรรมเนียม ทางเทคนิคที่ตั้งไว้ในบัญชีรอตัดจ่ายจำนวน 13,483,869.70 บาท ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่าต้นทุนการได้มาซึ่ง สิทธิในกรรมวิธีการผลิตดังกล่าวเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง เมื่อเลิกการผลิตสินค้าดังกล่าว จึงไม่มีค่า เหลืออยู่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 (บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง รอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดเป็น 31 มีนาคม ของทุกปี โดยรอบระยะเวลาบัญชีแรกเริ่มต้นและสิ้นสุดวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 - 31 มีนาคม 2543) ด้วยเหตุว่าการผลิตได้ยุติลงโดยสิ้นเชิง และไม่มีโอกาสที่จะ กลับมาผลิตอีก จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะตัดรายจ่ายค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชีที่คงเหลืออยู่เป็น รายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2543 ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (2), มาตรา 65 ทวิ (5)แนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือว่าอายุการใช้คำแนะนำทางด้านเทคนิครอการตัดบัญชีที่คงเหลือ อยู่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าโรลเลอร์อีกต่อไป บริษัทฯ จึงมีสิทธิตัดบัญชีรายจ่าย ค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชีที่คงเหลืออยู่เป็นรายจ่ายทั้งจำนวนได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด 31 มีนาคม 2543 ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (2) และมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ไม่ได้ขายเครื่องจักรดังกล่าวไป แต่นำไปใช้ ในแผนกการผลิตเครื่องมือแพทย์ และนำกลับมาผลิตสินค้าโรลเลอร์อีก บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำรายจ่าย ค่าธรรมเนียมทางเทคนิครอการตัดบัญชีที่คงเหลืออยู่ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2543 ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (2) และมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/2930 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2544 |