Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 374 (พ.ศ. 2564) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 374 (พ.ศ. 2564)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 4 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาท หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้นอกจากต้องมีลักษณะตามข้อ 3 แล้ว ต้องมีการด าเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ โดยปรากฏว่า

(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญไป และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ หรือ

(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้

(2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง โดยได้มีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันสามารถแสดงได้ว่าได้มีการด าเนินการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้

(3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย หรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้นหรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกหรือศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว

การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) ที่ได้กระทำในต่างประเทศหรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าวต้องได้รับการรับรองคำแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร

ข้อ 5 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาท หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้นอกจากต้องมีลักษณะตามข้อ 3 แล้ว ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ได้ดำเนินการตามข้อ 4 (1) แล้ว

(2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว

(3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้วหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล แล้วแต่กรณี ได้มีค าสั่งรับค าขอรับช าระหนี้นั้นแล้ว

ในกรณีตาม (2) หรือ (3) กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ให้นำความในข้อ 4 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) หรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ด้วยโดยอนุโลม

ข้อ 6 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท และมีลักษณะตามข้อ 3 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 หรือข้อ 5 ถ้าปรากฏว่าได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 เบญจ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 225 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 6 เบญจ การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันเงินสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

(1) เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วัน หรือ 12 เดือน

(2) เป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(3) เป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชี สำหรับสินทรัพย์ และภาระผูกพันทางการเงินที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

“สถาบันการเงิน” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า

(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ การถือหุ้นโดยอ้อมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(3) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 284 (พ.ศ. 2554) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 7 หนี้ของลูกหนี้รายใดที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตามข้อ5 (2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้ กรณีตามข้อ 6 ตรี ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และกรณีตามข้อ 6 นว ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ฝากขายสินค้าได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับฝากขายสินค้า แล้วแต่กรณี”

ข้อ 4 ในการอนุมัติให้จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 5 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ สำหรับการด าเนินการในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้มีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง และในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 5 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้

ข้อ 5 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการที่เริ่มในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดหลักเกณฑ์และจำนวนเงินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ได้มีการใช้บังคับมาเป็นเวลานานและไม่สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ประกอบกับได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลต่อวิธีการจัดชั้น การกันเงินสำรอง และการตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีของสถาบันการเงิน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และจำนวนเงินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)