BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีได้รับการส่งเสริมการลงทุน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้อเท็จจริงบริษัท ก. (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกิจการผลิต เครื่องปรับอากาศ บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการมีกำหนดระยะเวลา 6 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติมีกำหนดห้าปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บริษัทฯ จะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2541 กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ หลังจากสิ้นสุดการได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65แนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามบัตรส่งเสริม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และกรณีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราดังนี้ 1. อัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ (อัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ) ตามมาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และข้อ 9 ของบัตรส่งเสริมฯ มีกำหนด ระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 2. อัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ (อัตราปกติ) สำหรับระยะเวลาที่พ้นกำหนดตามข้อ 1. แล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศ กรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม)/1187 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2541 |