Skip to Content

BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการผลิต วาล์วและชิ้นส่วนประกอบวาล์ว รวมถึงการจำหน่ายผลพลอยได้ ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนฯ ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการอนุมัติให้บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมฯ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ มีกำหนดเวลา 7 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น

2. ในการขายสินค้า บริษัทฯ ได้เสนอราคาสินค้าพร้อมกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงเกี่ยวกับราคาขายไว้ใน Price List โดยราคาขายทั่วไปจะมี 3 แบบ ได้แก่

2.1 ราคา Ex Work (ราคาขายหน้าโรงงาน) เป็นราคาต้นทุนบวกกำไร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลูกค้าจะรับผิดชอบทั้งหมด

2.2 ราคา C.I.F. เป็นราคาสินค้ารวมค่าระวางและค่าประกันภัย

2.3 ราคา F.O.B. เป็นราคาสินค้าไม่รวมค่าระวางและค่าประกันภัย


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 พรบ.ส่งเสริมฯ และมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

เมื่อบริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิตามบัตร ส่งเสริมฯ ในการผลิตวาล์วและชิ้นส่วนประกอบวาล์ว กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าโดยการส่งออก และได้ตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับราคาขายตาม Price List เป็นราคา C.I.F. ซึ่งได้นำราคาสินค้า ค่าระวาง และค่าประกันภัย มารับรู้เป็นรายได้จากการขายสินค้าโดยการส่งออก (Sale Export) ทั้งจำนวน บริษัทฯ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิตามบัตรส่งเสริมฯ ดังกล่าว โดยไม่ต้องนำรายได้ที่เป็นราคา C.I.F. ส่วนของค่าระวางและค่าประกันภัยมาแยกเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ แต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/6263 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)