Skip to Content

BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีรายได้และรายจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีรายได้และรายจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดของสินค้าและวัตถุดิบที่ใช้แตกต่างกัน

และส่วนใหญ่ไม่สามารถนำวัตถุดิบไปใช้กับคำสั่งซื้ออื่นได้ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วบริษัทฯ จึงทำการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิต แต่เมื่อลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ บริษัทฯ ก็จะมีภาระต้นทุน

ที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบแต่ไม่สามารถนำไปผลิตเพื่อขายแก่ผู้ซื้อรายอื่นได้ จึงต้องเก็บไว้ในสต็อกหรือขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน บริษัทฯ จึงได้มีข้อตกลงกับลูกค้าว่า หากมีการยกเลิกคำสั่งซื้อลูกค้า

จะต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่บริษัทฯ ขณะเดียวกันหากบริษัทฯ มีการยกเลิกคำสั่งซื้อไปยังผู้จำหน่ายวัตถุดิบ บริษัทฯ ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้จำหน่ายเช่นกัน จึงหารือว่า รายได้

จากการจำหน่ายวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำไปผลิตเพื่อขาย รายได้ที่ได้รับการชดเชยจากลูกค้า และรายจ่ายค่าชดเชยที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเป็นรายได้และค่าใช้จ่ายที่ต้องนำไป

คำนวณกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 31 พ.ร.บ. BOI และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำไปผลิตเพื่อขายได้ ไม่ถือเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลิตผลตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จึงไม่ถือเป็นรายได้

จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บริษัทฯ จึงต้องนำรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไร

สุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีรายได้ที่ได้รับการชดเชย เนื่องมาจากความเสียหายจากการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า และรายจ่ายค่าชดเชยที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ไม่ถือเป็นรายได้และ

รายจ่ายจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลิตผล ตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

บริษัทฯ จึงต้องนำรายได้และรายจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/766 ลงวันที่ 30 มกราคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)