Skip to Content

BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเม็ดพลาสติกโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

บัตรส่งเสริมฉบับที่ 1 ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 ได้รับลดหย่อน ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติมีกำหนดเวลา 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2553 และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี นอกจากนี้ ยังได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา สองเท่าของรายจ่ายดังกล่าว เป็นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ตามมาตรา 31 มาตรา 34 และ มาตรา 35 (2)(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520

บัตรส่งเสริมฉบับที่ 2 ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิได้จากการประกอบกิจการ ที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ได้รับลดหย่อน ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติมีกำหนดเวลา 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริม ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา สองเท่าของรายจ่ายดังกล่าว เป็นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ตามมาตรา 31 มาตรา 34 และมาตรา 35 (2)(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ ผลการประกอบการของบริษัทฯ นับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2549 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิจากบัตรที่ 1 ในปี 2540 และปี 2543 ซึ่งอยู่ในช่วงที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี ส่วนปีที่เหลือนั้น บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิทุกปี บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50 ) มาโดยตลอดโดยใช้สิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าทุกปี และบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549

บริษัทฯ ขอทราบว่า

1. กรณีคำนวณกำไรสุทธิเพื่อจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 34 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ จะต้องคำนวณตามกำไรสุทธิทางบัญชี หรือกำไรสุทธิทางภาษี และบริษัทฯ จะต้องนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นในปี 2540 และปี 2543 มาหักกลบกับผลกำไรสุทธิทางภาษีของปีที่เหลือ เพื่อคำนวณ หากำไรสะสมทางภาษีสำหรับจ่ายเงินปันผลที่รับยกเว้นภาษีเงินได้ หรือไม่

2. กรณีการได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ ที่ได้รับอนุญาตให้หัก ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าวเป็นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น

(1) บริษัทฯ มีสิทธิจะใช้เฉพาะบัตรใดบัตรหนึ่ง ได้หรือไม่ และบริษัทฯ จะใช้สิทธิในบางปี และไม่ใช้สิทธิในบางปีได้ หรือไม่

(2) บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 โดยใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสองเท่าทุกปีของทุกบัตร หากบริษัทฯ จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ใหม่ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2541 เพื่อใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสองเท่าเป็นบางบัตร ได้หรือไม่

3. ผลขาดทุนสุทธิของบัตร 1 ที่เกิดขึ้นในปี 2540 และ ปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทฯ ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี สามารถนำไปหักกับกำไรประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างเวลาได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลปีถัดไปได้ หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับยกเว้นเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ บริษัทฯ ต้องจ่ายจากกำไรสุทธิทางภาษี และเงินปันผลดังกล่าว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ เมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 ดังนี้

(1) ต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้จ่าย และผู้รับเงินปันผลได้รับใน ระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

(2) ต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น

(3) กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับการส่งเสริมจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการใดเป็นจำนวน เท่าใดก็ได้ แต่ผู้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่านั้น

กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายเงินปันผลโดยมิได้ระบุว่าเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิ ของกิจการใด ให้เฉลี่ยเงินปันผลดังกล่าวตามส่วนของกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กับกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 35 (3) แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะ เวลาบัญชีใด ต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวนสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าวของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนบัตรใด มาถือเป็น รายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รายจ่ายในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนนั้นเกิดขึ้น โดยจะเลือกใช้สิทธิในบางปีและไม่ใช้สิทธิในบางปีก็ได้ แต่หากปีใดไม่นำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวนสองเท่า ของรายจ่ายดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายแล้ว ก็ไม่มีสิทธินำไปหักเพิ่มเติมในปีต่อไปได้อีก และหากบริษัทฯ ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2541 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงการใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสองเท่าเป็นบางบัตร ตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุนฯ แล้ว มีผลทำให้บริษัทฯ ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวม เบี้ยปรับตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 ฉบับ บริษัทฯ ต้องนำ ผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 ฉบับนั้น มารวมคำนวณให้ เป็นยอดกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเพียงยอดเดียว ถ้ามีกำไรสุทธิก็ให้ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และถ้าหากมีผลขาดทุนสุทธิเหลือ บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักออกจากกำไร ประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีถัดไปได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2420 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)