Skip to Content

BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมการลงทุน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมการลงทุน


ข้อเท็จจริง

บริษัทได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2 บัตร คือ

ก. ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในกิจการการผลิตอาหารเสริมซุปไก่สกัดและซุปรังนกเพื่อการส่งออกประเภท 1.3 การผลิตหรือถนอมอาหาร ส่วนที่ได้รับการส่งเสริม คือ อาหารเสริมปีละประมาณ 2,515 ตันและมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ออกไปจำหน่ายต่างประเทศทั้งสิ้น โดยบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลา 7 ปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้ใช้บัตรส่งเสริมไปแล้วเป็นเวลา 6 ปี

ข. ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตอาหารเสริม ประเภท 1.8 การผลิตอาหารส่วนที่ได้รับการส่งเสริมคือ อาหารเสริม ปีละประมาณ 4,825 ตัน และมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือประกอบได้ออกไปจำหน่ายต่างประเทศในแต่ละปีมีมูลค่า เอฟ.โอ.บี. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่ายอดขายทั้งสิ้นโดยบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้ใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมเป็นปีที่ 1 ดังนี้

1. วิธีการใช้กำลังการผลิต ตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบัตรส่งเสริมทั้ง 2 บัตร

1.1 บริษัทฯ ต้องใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมบัตรแรกให้เต็มกำลังการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมให้ครบก่อน แล้วจึงนำส่วนเกินกำลังการผลิตจากบัตรแรกมาใช้กับบัตรส่งเสริมบัตรที่ 2 ตามลำดับ

1.2 บริษัทฯ สามารถเลือกใช้กำลังการผลิตตามบัตรส่งเสริมบัตรใดบัตรหนึ่งก่อนหลังก็ได้ วิธีการทั้งสองที่กล่าวนี้มีผลแตกต่างทางภาษีหรือไม่

2. กรณีบริษัทฯ เลือกใช้กำลังการผลิต ตาม 1.2 ได้ ถ้ากำลังการผลิตที่ได้รับอนุมัติของบัตรส่งเสริมบัตรใดบัตรหนึ่งเพียงพอสำหรับการผลิตทั้งปี บริษัทฯ มีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมอีกบัตรหนึ่งได้หรือไม่

3. การจัดทำและการเก็บสต็อคสำหรับวัตถุดิบ วัสดุจำเป็น และสินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับสิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมทั้งสองบัตรไม่จำเป็นต้องจัดเก็บและลงบัญชีสต็อคแยกออกจากกันถูกต้องหรือไม่

4. ผลกำไรขาดทุนสุทธิที่แสดงในแบบ ภ.ง.ด.50 บริษัทฯ สามารถแสดงผลกำไรขาดทุนสุทธิรวมโดยไม่ต้องแยกแสดงผลกำไรขาดทุนของบัตรส่งเสริมแต่ละบัตร ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พรบ. ส่งเสริมการลงทุน

แนววินิจฉัย

1. กรณีที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 1 บัตร ซึ่งมีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การใช้สิทธิประโยชน์ในบัตรส่งเสริมแต่ละบัตร เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไข และระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในแต่ละบัตรส่งเสริมนั้น

2. ตามข้อ 3 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้น และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น บริษัทฯ จึงสามารถแสดงผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิรวมในแบบ ภ.ง.ด.50 โดยไม่แยกแสดงผลกำไรขาดทุนของบัตรส่งเสริมแต่ละบัตรได้ เนื่องจากเป็นการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกันแต่จะต้องจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแยกต่างหากจากกิจการส่วนอื่นที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

3. เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับตามบัตรส่งเสริมฯ ทั้งสองบัตร ตาม 1. และ 2.เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเช่นเดียวกัน ดังนั้น การจัดทำและการจัดเก็บสต็อคสำหรับวัตถุดิบ วัสดุจำเป็น และสินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับสิทธิประโยชน์ของบัตรส่งเสริมฯ ทั้งสองบัตรดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องจัดเก็บและลงบัญชีสต็อคแยกออกจากกันแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/00131 ลงวันที่ 08 มกราคม 2541

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)