BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแม่พิมพ์และซ่อมแซมแม่พิมพ์ประเภท 4.10 โดยได้รับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการเป็นเวลา 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้ จากการประกอบกิจการบริษัทฯ จะผลิตหรือซ่อมแซมแม่พิมพ์ตามรายละเอียดของผู้ว่าจ้างและเมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าว ผู้ว่าจ้างจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตาม คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยแจ้งว่าเป็นเงินได้จาก การรับจ้างทำของ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. ในระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันที่บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุน ผู้ว่าจ้าง หรือผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่ 2. ในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันพ้นกำหนดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุน ผู้ว่าจ้างหรือผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.5 ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 เตรส, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528แนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ มีเงินได้พึงประเมินจากกิจการผลิตและซ่อมแซมแม่พิมพ์ตามที่ได้ รับการส่งเสริมการลงทุนจากผู้ว่าจ้างภายในระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการ ประกอบกิจการดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการ ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ดังนั้น ผู้ว่าจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่ ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมที่บริษัทฯ ได้รับ โดยบริษัทฯ ต้องถ่ายสำเนาบัตรส่งเสริมให้ผู้ว่าจ้างเพื่อแสดงว่า บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการ ดังกล่าวด้วย 2. กรณีตาม 2. นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผู้ ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าจ้าง ตามข้อ 8 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/12392 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 |