BOI ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้อเท็จจริงบริษัทฯ เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายและซื้อมาขายไป สินค้าประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยสเตนเลสสตีล บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามบัตรส่งเสริมมีจำนวน 3 ฉบับ บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้ง 3 ฉบับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. รอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2542 บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวม 2 ฉบับ บริษัทฯ ต้องนำผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 ฉบับ มารวมคำนวณให้เป็นยอดกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพียงยอดเดียว ถ้ามีกำไรสุทธิก็ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าขาดทุนสุทธิ ก็ให้มีสิทธิยกไปหักจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พ้นกำหนดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นระยะเวลาห้าปี ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 ถึงปี 2548 บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวม 3 ฉบับ ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน 2. เมื่อได้นำผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม 1 มารวมคำนวณเข้าด้วยกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว หากปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่มีผลขาดทุนสุทธิรวมของบัตรส่งเสริมที่ 1 จำนวน 102.6 ล้านบาท และบัตรส่งเสริมที่ 3 จำนวน 16.19 ล้านบาทเหลืออยู่ ก็ถือว่า ไม่มีผลขาดทุนในกรณีนี้ ที่จะต้องยกไปใช้ภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกต่อไป ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค. 0706/6971 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 |