Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 620) พ.ศ. 2559 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทรถยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 620)

.ศ. 2559

____________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เป็นปีที่ 71 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 620) พ.ศ. 2559”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน(ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 “มาตรา 5 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
จากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด

(1) ทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในกิจการให้เช่ารถยนต์ ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(2) ทรัพย์สินที่เป็นรถยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต

ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งต้องได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป”

มาตรา 4 บทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559
                 

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

      นายกรัฐมนตรี

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมการวิจัย พัฒนาหรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และจูงใจให้เกิดการลงทุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ต้นแบบในภูมิภาคสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทรถยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะให้สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมดจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 133 ตอนที่ 67 ก วันที่ 5 สิงหาคม 2559)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)