Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 768) พ.ศ. 2566 การยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 768)

พ.ศ. 2566

---------------------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ในบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 768) พ.ศ. 2566”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547

(2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 476) พ.ศ. 2551

(3) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 655) พ.ศ. 2561

มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“สถานศึกษา” หมายความว่า

(1) สถานศึกษาของรัฐ

(2) โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

(3) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

(4) สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

(5) สถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอนุมัติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2560

“ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ระบบที่ใช้สร้างและเก็บรักษาข้อมูลการบริจาคในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค

(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน

มาตรา 6 การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 (1) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 (1) มารวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้และไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) เมื่อรวมคำนวณเงินได้ตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 7 การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 (2) มารวมคำนวณกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) เมื่อรวมคำนวณรายจ่ายตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีประกาศก าหนด

มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษา โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม
พ.ศ. 2567 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 9 บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องไม่นำเงินบริจาคที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวไปหักลดหย่อนเป็นเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือต้องไม่นำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรและยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 แล้วแต่กรณี อีก

มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         นายกรัฐมนตรี

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา จึงสมควรยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และกำหนดมาตรการภาษีเสียใหม่ให้ครอบคลุมการบริจาคให้แก่สถานศึกษาทุกกรณี เพื่อจูงใจให้มีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการศึกษามากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 140 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 15 สิงหาคม 2566)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)