Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 766) พ.ศ. 2566 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการพัฒนาระบบ การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และการนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 766)

พ.ศ. 2566

 -----------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้  ณ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 766) พ.ศ. 2566”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร และให้หมายความรวมถึงใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จัดทำโดยผู้ประกอบการ จดทะเบียนตามที่อธิบดีประกาศรายชื่อ

“ใบรับอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรที่จัดทำโดยผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามที่อธิบดีประกาศรายชื่อ

“ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือการบันทึกอื่นใดซึ่งยืนยัน ความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของลายมือชื่อดิจิทัลกับข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่อดิจิทัลที่ออกโดยผู้ให้บริการ ออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

“ระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งอื่นใดในทำนองเดียวกัน ที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์

“ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งอื่นใดในทำนองเดียวกัน ที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์

“ระบบการนำส่งภาษี” หมายความว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสิ่งอื่นใดในทำนองเดียวกัน ที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร

“อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า เครื่องมือที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการลงลายมือชื่อดิจิทัลในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือในระบบการนำส่งภาษี

“พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Cloud Storage) โดยใช้วิธีการประมวลผลในรูปแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และกระทำผ่าน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้กับผู้ให้บริการ

“ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ผู้ให้บริการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษา ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีประกาศรายชื่อ

“ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ผู้ให้บริการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีประกาศรายชื่อ

“ผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี” หมายความว่า ผู้ให้บริการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 เพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือการจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการจัดทำ ส่งมอบ รับ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่รายจ่ายของผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการขายหรือการให้บริการแก่บุคคลอื่น

มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษีสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 เพื่อการลงทุนในระบบการนำส่งภาษี หรือการจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการนำส่งภาษี สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นแต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อย ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 6 ทรัพย์สินตามมาตรา 4 และมาตรา 5 ต้อง

(1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

(2) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568

(3) อยู่ในราชอาณาจักร

(4) นำมาใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันนับแต่รอบระยะเวลา บัญชีแรกที่ได้มาและพร้อมใช้งาน

(5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาอื่น ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(6) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายสำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ดังต่อไปนี้

(1) ค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการจัดทำ ส่งมอบ รับ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์

(2) ค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์หรือค่าบริการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร

การยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

        นายกรัฐมนตรี

 

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม การลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 718) พ.ศ. 2564 ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อให้การพัฒนาระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นการอำนวย ความสะดวกและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี สมควรยกเว้น ภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปในการพัฒนาระบบ การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และการนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(หน้า 19 เล่ม 140 ตอนที่ 33 ก ราชกิจจานุเบกษา 1 มิถุนายน 2566)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)