Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 ยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ลงทุนที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750)

.ศ. 2565

 ---------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“บริษัทเป้าหมาย” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

“กิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน” หมายความว่า กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศกำหนด ซึ่งพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการ โดยได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

“ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน” หมายความว่า ทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนก่อนวันที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จากการโอนหุ้น โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนวันที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จากการโอนหุ้น

มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) รายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนก่อนวันที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จากการโอนหุ้น ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนไม่มีกำไรสะสม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมายโดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนวันที่มีรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(ข) กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนวันที่มีรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนนั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน

กำไรสะสมตาม (ก) และ (ข) ไม่รวมถึงกำไรสะสมในส่วนที่ได้จัดสรรเป็นทุนสำรองตามที่มีกฎหมายกำหนด

(2) รายได้จากการที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน ตามสัดส่วนกำไรสะสมจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน

มาตรา 6 บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนตามมาตรา 5 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(2) มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป

(3) จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

(4) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 481) พ.ศ. 2552 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 หรือพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560

ในกรณีที่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) รายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหน่วยทรัสต์ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนก่อนวันที่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนไม่มีกำไรสะสม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามสัดส่วนการลงทุนของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนที่ได้ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนวันที่มีรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(ข) กรณีทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนมีกำไรสะสมจากรายได้จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายในส่วนที่คำนวณได้จากกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของกำไรสะสมทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนวันที่มีรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์นั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน

(2) รายได้จากการที่ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน ตามสัดส่วนกำไรสะสมที่ได้จากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายเฉพาะส่วนที่ประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน โดยบริษัทเป้าหมายต้องประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดรายได้ในบริษัทเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนสองรอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกันก่อนทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนเลิกกัน
          มาตรา 8 การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) จดแจ้งการเป็นทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

(2) มีมูลค่าเงินทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป

(3) ไม่ใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 หรือพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560

ในกรณีที่ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในปีภาษีใดหรือรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับเฉพาะในปีภาษีนั้นหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา 9 การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2575

มาตรา 10 บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องไม่นำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวไปยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 หรือพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 อีก

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         นายกรัฐมนตรี

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนในบริษัทเป้าหมายที่พัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สมควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย รวมทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์ในกิจการเงินร่วมลงทุนซึ่งลงทุนในบริษัทเป้าหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 139 ตอนที่ 38 ก ราชกิจจานุเบกษา 14 มิถุนายน 2565)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)