Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 692) พ.ศ. 2563 การยกเว้นรัษฎากร มาตรการพี่ช่วยน้อง

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 692)

.ศ. 2563

 ---------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 692) พ.ศ. 2563”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกินกว่าสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานเกินกว่าสองร้อยคน เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

รายจ่ายเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าธรรมเนียมค้าประกันสินเชื่อให้แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคนมีหน้าที่ต้องจ่าย หรือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเสริมการดำเนินกิจการที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ให้การรับรอง สำหรับรายการ ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหาร การตลาด การบัญชี หรือการอื่นที่เกี่ยวข้อง

(2) จัดให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3) จัดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต หรือการเพิ่มกำไร

(4) จัดให้มีการส่งเสริมการตลาด

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหนึ่งเข้าไปมีอำนาจจัดการในอีกนิติบุคคลหนึ่ง

(3) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง

(4) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

(5) บุคคลเกินกว่ากึ่งจำนวนกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการในนิติบุคคลหนึ่งเป็นกรรมการหรือเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการในอีกนิติบุคคลหนึ่ง

การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 4 การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง มารวมคำนวณกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการได้รับยก เว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายและไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) เมื่อรวมคำนวณรายจ่ายตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

        นายกรัฐมนตรี

 

 ---------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 631) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 แต่โดยที่ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการภาษีดังกล่าวต่อไป เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอันเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกินกว่าสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานเกินกว่าสองร้อยคน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 137 ตอนที่ 12 ก ราชกิจจานุเบกษา 7 กุมภาพันธ์ 2563)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)