Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงิน กับธนาคารในประเทศหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ และผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับ จากการฝากเงินตามหล

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664)

.ศ. 2561

 -------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

(1) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ

(2) ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

(3) ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์กับธนาคารในประเทศ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2546 และต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

ดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนเงินฝากตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 5 ในกรณีที่การฝากเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 4 วรรคสอง หรือตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดตามมาตรา 4 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายขาดไปสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว และให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีส่วนที่ขาดพร้อมกับเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีส่วนที่ขาดโดยไม่มีเบี้ยปรับ

ให้ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์นำส่งภาษีและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งโดยยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 6 บทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือพึงชำระสำหรับเงินได้พึงประเมินก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

  ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

       นายกรัฐมนตรี

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 ยังไม่ครอบคลุมถึงผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในประเทศ เพื่อให้ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับผลตอบแทนจากการฝากเงินทั่วไป และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น สมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ และผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในประเทศ ทั้งนี้ ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 135 ตอนที่ 98 ก ราชกิจจานุเบกษา 22 พฤศจิกายน 2561)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)