Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 638) พ.ศ. 2560 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 638)

.ศ. 2560

-----------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 638) พ.ศ. 2560”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้ 

 (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินที่บริจาคโดยคิดคำนวณเพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินบริจาคที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (70) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 253 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือเงินบริจาค ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น

(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค โดยคิดคำนวณเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาคตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ

มาตรา 4 การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามมาตรา 3 ต้องเป็นการบริจาค

(1) แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

(2) ที่เป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

(3) ที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527)พ.ศ. 2554

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

  ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

        นายกรัฐมนตรี

 

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีอุทกภัยร้ายแรงเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องประสบความเดือดร้อนในการดำรงชีพเป็นอย่างมากและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านความเป็นอยู่และเยียวยาฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่จะนำไปใช้ในการนี้ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดังกล่าวที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 134 ตอนที่ 18 ก วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)