Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 578) พ.ศ. 2557 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ แก่สถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 578)

พ.ศ. 2557

------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์บางกรณี

                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 578) พ.ศ. 2557

                   มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

                   “แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 หมายความว่า แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

                   สถาบันการเงิน หมายความว่า
                   (1)
สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
                   (2)
สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
                   (3)
นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                   มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ทั้งนี้ สำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

                   มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ทั้งนี้ สำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

                   มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับมูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ทั้งนี้ สำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

                   มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
        
นายกรัฐมนตรี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ซึ่งมีขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ของระบบสถาบันการเงิน เพื่อวางกรอบการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระหว่าง พ.ศ. 2553 - 2557 และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 502) พ.ศ. 2553 กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่สถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 แต่โดยที่การควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กันของสถาบันการเงินยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น จึงจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 131 ตอนที่ 75 ก วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)