Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 534) พ.ศ. 2555 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลให้แก่บริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 10

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 534)
พ.ศ. 2555
---------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555
เป็นปีที่ 67 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่า

                 โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลให้แก่บริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น บางกรณี

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                  มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 534) พ.ศ. 2555

                  มาตรา พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

                  มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5 เตวีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
                  
มาตรา 5 เตวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่ได้รับ เว้นแต่
                  (1)
กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับ
                  (2)
กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับบริษัทผู้รับเงินปันผลตามวรรคหนึ่ง ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นับระยะเวลาถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
         
นายกรัฐมนตรี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือโดยที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในการปรับโครงสร้างกิจการโดยการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยแต่การควบเข้ากันหรือการโอนกิจการมีผลทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจากการควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น ต้องนำเงินได้ที่เป็นเงินปันผลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มารวมคำนวณเป็นรายได้ อันก่อให้เกิดความแตกต่างจากกรณีที่บริษัทที่ไม่ได้ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งไม่ต้องนำเงินปันผลมาคำนวณเป็นรายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทมีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและเพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลเป็นไปในหลักการเดียวกัน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่นสำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 129 ตอนที่ 12 ก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)