Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 361) พ.ศ. 2542 กำหนดให้กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์บางกรณี เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 240

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 361)
พ.ศ. 2542
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน


                      
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                      
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์บางกรณี เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

                      
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 91/3(7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                      
มาตรา  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 361) พ.ศ. 2542

                      
มาตรา  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

                      
มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2542

                      
(14) กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์สำหรับรายรับตามมาตรา 91/5(1)(ก) มาตรา 91/5(2)(ก) และมาตรา 91/5(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่

                               (
ก) สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงจะต้องมีนิติบุคคลรายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

                               (
ข) เป็นรายรับที่ได้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจาก

                                      (1)
การให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือ

                                      (2)
การให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

                               (
ค) สถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อดำเนินการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปได้ แต่เนื่องจากการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่น หรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่น ทำให้สถาบันการเงินได้รับรายรับบางประเภทซึ่งมีภาระที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงทำให้การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่เป็นที่แพร่หลาย ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ สมควรกำหนดให้กิจการของสถาบันการเงินในกรณีดังกล่าวเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 132 ก วันที่ 21 ธันวาคม 2542)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)