พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 การยกเว้นรัษฎากร เพื่อสนับสนุนกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 ---------------------- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564” มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559 มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม “วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไร” หมายความว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม “กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม “ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ระบบที่ใช้สร้างและเก็บรักษาข้อมูลการบริจาคในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไร สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรนั้นได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และไม่มีการแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดหากวิสาหกิจเพื่อสังคมตามวรรคหนึ่ง เปลี่ยนแปลงประเภทของวิสาหกิจเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดแจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา 11 แล้ว ดังต่อไปนี้ (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินเท่าที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพื่อการเพิ่มทุน แล้วแต่กรณี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกรณีละหนึ่งแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพื่อการเพิ่มทุนการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือเท่ากับราคาทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดแจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา 11 แล้ว โดยไม่มีค่าตอบแทนผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ดังต่อไปนี้ (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา 9 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทนตามมาตรา 7 หรือการบริจาคทรัพย์สินให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ สำหรับการโอนหรือการบริจาคทรัพย์สินที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มาตรา 10 วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) จดแจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา 11 (2) ใช้ทรัพย์สินในกิจการหรือเพื่อกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมเท่านั้น (3) ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ เว้นแต่การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (4) ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน รวมถึงบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เว้นแต่กรณีที่อธิบดีประกาศกำหนด (5) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา 11 วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรที่ประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 5 และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสงค์จะให้บุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของตนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้จดแจ้งความประสงค์ต่ออธิบดีภายในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้จดแจ้งความประสงค์ต่ออธิบดีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจดแจ้งความประสงค์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ อธิบดีจะขยายกำหนดเวลาออกไปตามความจำเป็นแห่งกรณีก็ได้ มาตรา 12 ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมถูกเพิกถอนการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ของวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรตามมาตรา 5 สิ้นสุดลงนับแต่วันที่การเพิกถอนการจดทะเบียนมีผลใช้บังคับ มาตรา 13 ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง ดังนี้ (1) กรณีเลิกก่อนครบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (ก) ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น (ข) ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 6 สิ้นสุดลงตั้งแต่ปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น หรือไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น แล้วแต่กรณี (2) กรณีเลิกภายหลังครบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม มาตรา 14 ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกัน ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ของวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรตามมาตรา 5 สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกัน มาตรา 15 กรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรตามมาตรา 5 หรือผู้ลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 6 ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้แล้วต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใดหรือในปีภาษีใด ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง ดังนี้ (1) ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น (2) ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 6 สิ้นสุดลงตั้งแต่ปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น หรือไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น แล้วแต่กรณี มาตรา 16 วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559 และได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นได้จดแจ้งต่ออธิบดีตามมาตรา 11 แล้ว ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมสำหรับการลงทุนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม และการโอนหรือบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับการโอนหรือบริจาคทรัพย์สินในกรณีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(เล่ม 138 ตอนที่ 73 ก ราชกิจจานุเบกษา 8 พฤศจิกายน 2564) |