Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 730) พ.ศ. 2564 การยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 730)

.ศ. 2564

 ----------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 730) พ.ศ. 2564”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“การขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทนและให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชาระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
          “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

“บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

“กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย” หมายความว่า กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

(2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

(3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

(4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

(5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

(7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ

(8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

(9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ

(10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

“รายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ” หมายความรวมถึง

(1) รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

(2) รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สินบรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป

(3) รายได้อื่นของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

“สถานประกอบกิจการ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบกิจการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ

“เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” หมายความว่า ท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

(2) มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น

(3) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท

(4) มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(5) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(6) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(7) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

การให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามวรรคหนึ่ง ให้หมายถึงบริการที่ทำในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

มาตรา 5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือ

(2) ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่ามีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตามในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมาตรา 4 ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

        นายกรัฐมนตรี

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายและตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 627) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สมควรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 138 ตอนที่ 73 ก ราชกิจจานุเบกษา 8 พฤศจิกายน 2564)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)