Skip to Content

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 705) พ.ศ. 2563 การยกเว้นรัษฎากร สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 10

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 705)

.ศ. 2563

------------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 705) พ.ศ. 2563”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2561 เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5 ปัญจวีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

“มาตรา 5 ปัญจวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย”

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         นายกรัฐมนตรี

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือดอกเบี้ยพันธบัตรที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเช่นเดียวกับกรณีของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และพัฒนาตลาดพันธบัตรภาครัฐให้มีสภาพคล่องและสามารถรองรับการระดมทุนและการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(เล่ม 137 ตอนที่ 45 ก ราชกิจจานุเบกษา 22 มิถุนายน 2563)

 

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)