พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
““ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” หมายความว่า ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) สำนักหักบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(4) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(5) ผู้ซึ่งมอบหมายให้บุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืม หรือให้ยืมหลักทรัพย์
(6) ผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 582) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป)
“สัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์” หมายความว่า สัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ตามความหมายที่กำหนดในวรรคสามของข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540
“เงินชดเชยเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้ยืมหรือผู้ยืม เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในระหว่างที่มีการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
“เงินชดเชยดอกเบี้ย” หมายความว่า เงินที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้ยืมหรือผู้ยืม เนื่องจากมีการจ่ายดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในระหว่างที่มีการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ใน ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ในกรณีที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมตามวรรคหนึ่ง เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หากได้รับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยเนื่องจากการยืมหรือการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ จึงจะได้รับยกเว้นภาษีตามความในวรรคหนึ่ง
มาตรา 5 ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 4 หากยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่
(1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับโอนกลับคืนมา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่นและชนิดเดียวกัน และในจำนวนที่เทียบเท่ากับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในการยืม เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ
(2) บริษัทตาม (1) ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ
ทั้งนี้ บริษัทตาม (1) และ (2) ต้องเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 4 และได้ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าวและยังคงถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลาที่ได้ให้ยืมหุ้นหรือหน่วยลงทุนหรือระยะเวลาที่ได้ใช้หุ้นหรือหน่วยลงทุนเป็นหลักประกันรวมด้วย
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
|
ชวน หลีกภัย
|
นายกรัฐมนตรี
|
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้การประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ตาม (7) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนของประเทศ แต่เนื่องจากการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์มีธุรกรรมที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีอากร จึงไม่จูงใจให้ผู้ลงทุนทำการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนของประเทศในระยะยาว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์บางกรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
|