พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 -------------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500 เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 และมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496
(2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2497
(3) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2498
“มาตรา 4 ให้ยกเว้นบรรดารัษฎากรประเภทต่าง ๆ ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร แก่
(1) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การ หรือทบวงการดังกล่าวซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง (2) สถานเอกอัคราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน”
“(3) สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความตกลงนั้น”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 676) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป)
“ทั้งนี้ เว้นแต่ภาษีการค้าจากรายรับสำหรับสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักรที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี (10) ซึ่งภายหลังต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 79 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร” (แก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2510 ใช้บังคับ 27 กันยายน 2510 เป็นต้นไป) (ภาษีการค้ายกเลิกเมื่อ 1 มกราคม 2535 วรรคนี้จึงยกเลิกไปโดยปริยาย)
“มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวด 4 และภาษีธุรกิจเฉพาะในหมวด 5 ของลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 238) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 ทวิ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้แก่
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.119/2545) ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.122/2545)
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 108) พ.ศ. 2524 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีในหรือหลัง 31 ธันวาคม 2523 เป็นต้นไป)
มาตรา 5 ตรี (ภาษีการค้ายกเลิก 1 มกราคม 2535 แล้วมาตรานี้จึงยกเลิกโดยปริยาย)
“มาตรา 5 จัตวา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่ประเทศนั้นได้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกรณีดังกล่าว ให้แก่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยที่ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ไว้ก่อน พ.ศ. 2527 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 139) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีในหรือหลัง 31 ธันวาคม 2526 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 เบญจ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
(1) สำหรับเงินได้ของบริษัทเงินทุนในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรนั้นใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการรับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง สำหรับเงินได้ของบริษัทเงินทุนที่ได้รับจากลูกหนี้เกี่ยวกับการรับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินตาม (1) เฉพาะที่จ่ายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทเงินทุนจะนำหนี้สูญที่เกิดขึ้นเนื่องในการดำเนินการตาม (1) มาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิมิได้” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 154) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 ฉ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะกรณีที่ผู้โอนได้รับค่าตอบแทนเป็นสิทธิในการใช้ทรัพย์สินที่โอนนั้นเพื่อกิจการผลิตสินค้าของตนเอง” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 155) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2528 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 สัตต ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศให้แก่
(1) สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น และรัฐบาลต่างประเทศเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจาก (ก) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ข) รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการกู้เงินนั้น
“มาตรา 5 อัฏฐ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้
(1) ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ขององค์การของรัฐบาล (2) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม (3) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 429) พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับ 25 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ที่จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องถือกรรมสิทธิ์หรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ก่อนวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องออกจำหน่ายก่อนวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ ในกรณีที่การโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้มิได้มีการแจ้งต่อนายทะเบียน ต้องมีหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์เป็นหนังสือซึ่งระบุวันที่โอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นไว้โดยชัดแจ้ง”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๐๙) พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 นว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่มูลนิธิหรือสมาคม เฉพาะเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๘๙) พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้บังคับ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 ทศ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการเรียกเก็บค่าบริการการสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศสถานีพื้นดิน หรือระหว่างอากาศกับพื้นดิน การสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับงานอุตุนิยม และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้มอบหมายจากรัฐบาลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เรียกเก็บจากบริษัทการบินต่าง ๆ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 170) พ.ศ. 2529 ใช้บังคับ 4 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 เอกาทศ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยกู้ยืมที่ได้จากผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจเพื่อการให้กู้ยืมในต่างประเทศตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปให้แก่
(1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่สัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในต่างประเทศ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย” (ยกเลิกโดยกฤษฎีกา ฉบับที่ 454 พ.ศ.2549 แต่ยังคงใช้คังคับถึงวันที่ 17 เมษายน 2552) (ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 270) พ.ศ. 2537) (ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 306) พ.ศ. 2540) (ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540 )
“มาตรา 5 ทวาทศ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ประกาศกระทรวง การคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะส่วนรายรับ ตามมาตรา 91/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป) (ยกเลิกโดยกฤษฎีกา ฉบับที่ 454 พ.ศ.2549)
“มาตรา 5 เตรส ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกิจการดังต่อไปนี้
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบกิจการให้แก่องค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือบริษัทจำกัดที่สถาบันการเงินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (2) การขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือของบริษัทจำกัดที่สถาบันการเงินตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ 23 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป) (ยกเลิกโดยกฤษฎีกา ฉบับที่ 454 พ.ศ.2549 แต่ยังคงใช้คังคับถึงวันที่ 17 เมษายน 2552)
“มาตรา 5 จตุทศ ให้ยกเว้นรัษฎากรดังต่อไปนี้แก่การออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
(1) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินรางวัลสลากซึ่งยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (2) ภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก (3) ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสลาก ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้หรือการขายนั้นจะได้รับหรือได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 310) พ.ศ.2540 ใช้บังคับ 13 กันยายน2540 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 ปัณรส ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนที่ดินส่วนที่ทำให้วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด มีที่ดินไม่เกินห้าสิบไร่” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 326) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 10 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 โสฬส ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 17 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน (ฉบับที่ 2) )
“มาตรา ๕ สัตตรส ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้บังคับวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ เป็นต้นไป) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน (ฉบับที่ 2))
“มาตรา 5 อัฏฐารส ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกำหนดกิจการจัดการเงินร่วมลงทุนให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท โดยต้องมีการชำระค่าหุ้นครั้งแรกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนและชำระค่าหุ้นที่เหลือทั้งหมด ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันจดทะเบียน การลดทุนจดทะเบียนให้กระทำได้ เมื่อได้ถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดปีติดต่อกัน “(๒) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๔๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้บังคับ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป) (3) ต้องถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่น้อยกว่าจำนวนร้อยละของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท ดังนี้
(ก) ร้อยละ 20 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่หนึ่ง เว้นแต่มีเหตุอัน สมควรและได้รับอนุญาตจากอธิบดี จะมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ได้ (ยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๔๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๒)
(ข) ร้อยละ 40 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สอง (ค) ร้อยละ 60 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สาม (ง) ร้อยละ 80 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีที่สี่ เป็นต้นไป วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังกล่าวต้องเป็นกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้วเป็นเวลาสามปี
“(4) ต้องถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ จะมีระยะเวลาการถือหุ้นน้อยกว่าห้าปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกันก็ได้
(ก) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีในรอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน หรือ (ข) เป็นการถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดระยะเวลาที่วิสาหกิจนั้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 ใช้บังคับ 24 พฤศจิกายน 2548)
(5) ต้องมีการมอบหมายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้จัดการเงินร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
มาตรา 5 เอกูนวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้
(1) เงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่ง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส (2) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
“มาตรา 5 วีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และ (2) เงินปันผลต้องมาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล โดยอัตราภาษีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลจะมีกฎหมายลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม
มาตรา 5 เอกวีสติ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อย้ายสถานประกอบการเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนไม่เกินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งใหม่และย้ายโรงงานเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการแห่งใหม่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือหลังวันที่ทำสัญญาขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งเดิม โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553
มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงงานพร้อมที่ดินแห่งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 ใช้บังคับ 24 พฤศจิกายน 2548)
“มาตรา ๕ ทวาวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการโอนหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา ๕ อัฏฐารส (๑)(๒)(๓) วรรคหนึ่ง (๔) และ (๕) (๒) เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเป็นกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกินสองร้อยล้านบาท หรือมีการจ้างแรงงานเกินสองร้อยคน
(๓) หุ้นที่โอนต้องเป็นหุ้นที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ถือไว้ก่อนที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลอดระยะเวลาที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๔๘๑) พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้บังคับ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป)
“มาตรา ๕ เตวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทอื่น เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่ได้รับ เว้นแต่
(๑) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลเป็นบริษัทจดทะเบียน ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับ (๒) กรณีที่บริษัทผู้รับเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ให้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับบริษัทผู้รับเงินปันผลตามวรรคหนึ่ง ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว และต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นับระยะเวลาถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นของบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๓๔) พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้บังคับ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)
“มาตรา ๕ จตุวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทซึ่งเป็นบริษัทเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือเป็นผู้โอนกิจการและจดทะเบียนเลิก ในกรณีที่ได้มีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ระหว่างบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันชีวิตธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินสำรองตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑) (ก) (ข) หรือ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำมารวมเป็น รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามมาตรา ๗๔ (๒) และ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๗๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ ใช้บังคับ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นไป)
“มาตรา ๕ ปัญจวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๗๐๕) พ.ศ.๒๕๖๓ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป)
มาตรา 6 ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ ตามหมวด 6 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่
(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (3) ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (4) ผู้ประกอบการขนส่ง เฉพาะการรับเงินที่เป็นค่ารับขนส่งคนโดยสาร (5) ผู้ประกอบการมหรสพ เฉพาะการรับเงินที่เป็นค่าดู “(6) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2503 ใช้บังคับ 28 มิถุนายน 2503 เป็นต้นไป) “(7) ผู้ค้ำประกัน เฉพาะการค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้กู้ยืมหรือให้ยืม (8) ผู้ออกใบรับ เฉพาะการรับเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้กู้ยืมหรือให้ยืม” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2511 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2512 เป็นต้นไป) (ความใน (4) (5) และ (8) ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เพราะยกเลิกอากรแสตมป์สำหรับใบรับเกือบทั้งหมด) “(9) การเคหะแห่งชาติ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ 8 ธันวาคม 2516 เป็นต้นไป) “(10) ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์รับอนุญาตที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียน สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 63) พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ 18 สิงหาคม 2519 เป็นต้นไป) “(11) ผู้ที่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ไม่ถึงหนึ่งบาทหรือตราสารที่คำนวณค่าอากรแสตมป์แล้วต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไปเฉพาะส่วนที่เป็นเศษของบาท” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 100) พ.ศ. 2523 ใช้บังคับ 25 กันยายน 2523 เป็นต้นไป) “(12) ผู้โอนเฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนสำหรับการโอนพันธบัตรนั้น” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 106) พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ 10 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป) “(13) ผู้รับจ้างเฉพาะการรับจ้างสำรวจแร่ที่ผู้รับจ้างได้ทำสัญญากับทางราชการและเฉพาะกรณีที่ทางราชการมิได้จ่ายค่าตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิทำเหมืองในพื้นที่ที่รับจ้างสำรวจนั้น” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 161) พ.ศ. 2528 ใช้บังคับ 3 กันยายน 2527 เป็นต้นไป) “(14) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 176) พ.ศ. 2529 ใช้บังคับ 25 กรกฎาคม 2529 เป็นต้นไป) “(15) โอน เฉพาะการโอนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 187) พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ 15 กันยายน 2530 เป็นต้นไป) “(16) ผู้โอนเฉพาะการโอนตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 210) พ.ศ. 2533 ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไป) “(17) ผู้โอนเฉพาะการโอนพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 235) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 27 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไป) “(18) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (19) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 258) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป) “(20) ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 หรือที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้ที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 259) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป) (ยกเลิกโดยกฤษฎีกาฉบับที่ 454 พ.ศ.2549) “(21) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 266) พ.ศ. 2536 ใช้บังคับ 7 กันยายน 2536 เป็นต้นไป) “(22) ผู้มอบอำนาจ เฉพาะการมอบอำนาจให้บุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทหนึ่งประเภทใดตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตัวแทนดังกล่าวต้องนำแผ่นบันทึก แถบบันทึก หรือสื่อบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้มามอบให้กรมสรรพากร หรือส่งข้อมูลที่ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้โดยระบบคอมพิวเตอร์ให้กรมสรรพากร เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2538 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป) ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 36) ) “(23) ผู้โอน เฉพาะการโอนหุ้นกู้” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 285) พ.ศ. 2538 ใช้บังคับ 11 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป) “(24) ผู้โอน เฉพาะการโอนหุ้นในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ 14 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป) “(25) องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 323) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 25 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป) “(26) บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 329) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 1 กันยายน 2541 เป็นต้นไป) “(27) ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะกรณีที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ทำขึ้นระหว่างนิติบุคคลเฉพาะกิจกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 335) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 6 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป) ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 40) ) “(28) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 338) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 12 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป) “(29) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 345) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 2 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป) “(30) ผู้โอน เฉพาะการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่บุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์สำหรับการโอนหลักทรัพย์นั้น” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 351) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 26 มีนาคม 2542 เป็นต้นไป) “(31) ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 357) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 2 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน) (ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน (ฉบับที่ 2)) “(32) รัฐวิสาหกิจ เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 372) พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ 30 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป) “(33) อนุญาโตตุลาการ เฉพาะตราสารคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ 16 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป) “(33) สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) ” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 380) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ 26 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป) “(34) ผู้ที่ต้องเสียอากร เฉพาะตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน เฉพาะในส่วนของหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 393) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ 27 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป) (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 42)) “(35) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะการกระทำตราสารในการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป “(36) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 398) พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป) “(37) ผู้ขาย เฉพาะการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์”ดังต่อไปนี้
(ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย (ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน (ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้โอนได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 444) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ 30 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป)
“(38) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 446) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ 31 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป)
“(39) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545” เป็นต้นไป (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 450) พ.ศ. 2549 ใช้บังคับ 20 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป)
“(40) สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 491) พ.ศ. 2552 ใช้บังคับ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
“(41) กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 512) พ.ศ. 2554 ใช้บังคับ 16 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป)
“(42) กองทุนการออมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 606) พ.ศ. 2559 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป)
“(43) ผู้ออกใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และเกิดขึ้นจากโครงการการขายทอดตลาดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเพื่อใช้อยู่อาศัยจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี สำหรับโครงการประชารัฐสวัสดิการ เฉพาะการโอนให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดที่ได้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ สำหรับการขายทอดตลาดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 678) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
มาตรา 7 (ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 13)
มาตรา 8 (ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 13)
มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อผูกพันตามสัญญา ที่จะยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทและพนักงานต่างประเทศ ที่เข้ามาปฏิบัติงานก่อสร้าง และงานอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ตามโครงการช่วยเหลือ ICA และ JUSMAC เงินที่รัฐบาลอเมริกันจ่ายในการช่วยเหลือนั้น เป็นเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บจากราษฎรอเมริกัน ฉะนั้น เพื่อใช้เงินดังกล่าวให้ได้ผลในการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเต็มเม็ดเต็มหน่วยสมควรตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น เพื่อกำหนดมิให้ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือนั้นชำระเป็นค่าภาษีอากร
|