Skip to Content

กฎกระทรวง ฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) ลดหย่อนค่าซื้อ LFT และยกเว้นเงินได้จากการขาย LTF

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (66) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(66) เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นเงินได้ของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสอง ให้ผู้มีเงินได้นั้นหมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งมาแล้วด้วย”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (67) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม (66) และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย”

ข้อ 3 บทบัญญัติใน (66) ของข้อ ให้ยกเลิกความใน (66) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่ซื้อก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้อ 4 บทบัญญัติใน (67) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้อ 5 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


เหตุผล: เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการลงทุนในระยะยาวและรักษาเสถียรภาพของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวโดยขยายระยะเวลาการยกเว้นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืน รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 133 ตอนที่ 58 ก วันที่ 8 กรกฎาคม 2559)

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)