Skip to Content

ให้หุ้นพนักงาน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้สิทธิพนักงานในการซื้อหุ้น

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้สิทธิพนักงานในการซื้อหุ้น


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ เป็นบริษัทในเครือของบริษัท อ. ประเทศสหรัฐอเมริกา (บริษัทแม่) จดทะเบียน

จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2540 และได้ทำการโอนกิจการทั้งหมดไปยังบริษัทอื่นเมื่อ

วันที่ 1 สิงหาคม 2544 โดยจดทะเบียนเลิกกิจการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544

2. บริษัทแม่มีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจให้พนักงานของบริษัทในเครือทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมใน

การดำเนินงาน จึงมีโครงการ 1995 stock option and performance award plan โดย

กำหนดคุณสมบัติของพนักงานว่าจะต้องเป็นพนักงานของบริษัทในเครือที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานไม่

น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีอายุการทำงานนานกว่า 5 เดือนขึ้นไป มีผลการทำงานดีและมี

ประสิทธิภาพ โดยในแต่ละปีจะพิจารณาให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนหุ้นที่พนักงานมีสิทธิซื้อได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ

ผลงานของพนักงาน ปีที่พนักงานได้รับสิทธิเรียกว่า Grant period มีระยะเวลา 1 ปี แต่พนักงานจะ

มีสิทธิซื้อหุ้น (exercise) ได้เมื่อพ้น Grant period แล้ว โดยจะเลือกใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise)

ในปีใดก็ได้ ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับสิทธิให้ซื้อหุ้น เมื่อพนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) แล้ว

พนักงานนั้นจะต้องชำระค่าหุ้นตามราคาที่ได้รับสิทธิ ส่วนผลต่างระหว่างสิทธิที่พนักงานได้รับในการซื้อหุ้น

กับราคาหุ้นที่ขายได้จริงในวันที่พนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise)บริษัทฯ จะชำระแทนพนักงานตามที่

บริษัทแม่เรียกเก็บค่าซื้อหุ้นดังกล่าว และเนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทในเครือที่มีขนาดเล็ก จึงมีพนักงานที่

ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพียงคนเดียว ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปและเป็นกรรมการ

ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ

3. ในทางปฏิบัติเมื่อพนักงานได้รับสิทธิให้ซื้อหุ้น บริษัทฯ จะบันทึกสิทธิที่พนักงานได้รับโดยการ

ตั้งเป็นรายการเงินสำรอง โดยคำนวณค่าของสิทธิดังกล่าวตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป (คำนวณมูลค่า

หุ้นตามราคาตลาดหุ้นนิวยอร์ก ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี) และจะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีอากร

ในปีที่พนักงานได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) แล้ว

4. ในวันที่บริษัทฯ จดทะเบียนเลิกกิจการ ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับสิทธิที่พนักงาน

ได้รับและยังไม่ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,321,035 บาท ที่บริษัทฯ ได้ตั้งเป็น

รายการเงินสำรองไว้ ซึ่งตามสัญญาโอนกิจการได้ตกลงโอนทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่าย

ค้างจ่ายสำหรับสิทธิที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้น (exercise) ไปยังบริษัทผู้รับโอนด้วย

บริษัทฯ จึงหารือว่าความเห็นดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่

1. บริษัทฯ ตั้งเงินสำรองค้างจ่ายในปีที่พนักงานได้รับสิทธิซื้อหุ้น แต่เนื่องจากเป็นรายจ่ายที่

ยังไม่เกิดขึ้นจริง และบริษัทฯ ยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระ เงินสำรองดังกล่าวจึงไม่สามารถถือเป็นค่าใช้จ่าย

ในทางภาษีอากรได้จนกว่าพนักงานจะได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) แล้ว

2. ในปีที่พนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) บริษัทฯ สามารถรับรู้รายจ่ายในทางภาษีอากร

ได้ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงทั้งจำนวน

3. ในปีที่เลิกกิจการ บริษัทฯ ได้โอนเงินสำรองตามโครงการไปยังบริษัทผู้รับโอนด้วย ดังนั้น

แม้ว่าพนักงานยังไม่ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกิจการ ย่อมถือได้ว่า

บริษัทฯ ได้ชำระเงินสำรองตามโครงการที่มีอยู่ให้แก่บริษัทผู้รับโอนแล้ว รายการเงินสำรองที่บริษัทฯ ได้

ชำระไปย่อมรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีอากรได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ

4. บริษัทฯ เป็นองค์กรขนาดเล็ก จึงมีพนักงานระดับผู้บริหารเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกให้

เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีผลการทำงานดีเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด และจำนวนสิทธิที่พนักงานได้รับก็

เป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด รายจ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อพนักงานได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) จึง

เป็นเหตุการณ์ปกติสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ย่อมถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ ให้สิทธิแก่พนักงานในการซื้อหุ้นของบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อเป็น

สวัสดิการแก่พนักงานที่มีผลการทำงานดี โดยกำหนดคุณสมบัติเป็นการทั่วไปว่าหากพนักงานคนใดมีผล

การทำงานเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิซื้อหุ้น การให้สิทธิซื้อหุ้น

ดังกล่าวจึงเป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงานอันเป็นปกติของการประกอบกิจการโดยทั่วไป ดังนั้น หาก

พนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) แล้ว และบริษัทฯ ต้องจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาที่พนักงานได้

รับสิทธิในการซื้อหุ้นกับราคาที่พนักงานซื้อจริง โดยมิได้มีข้อกำหนดให้จ่ายจากผลกำไรของบริษัทฯ ที่ได้

เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทฯ ย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) (13) และ (19) แห่งประมวลรัษฎากร และส่วนต่างที่บริษัทฯ

จ่ายให้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

พนักงานที่ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

2. ในปีที่พนักงานได้รับสิทธิซื้อหุ้นของบริษัทแม่แล้วแต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise)

และบริษัทฯ ได้ตั้งเป็นเงินสำรองค้างจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เงินสำรองดังกล่าวมิให้ถือเป็น

รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีที่บริษัทฯ โอนกิจการให้บริษัทผู้รับโอน โดยบริษัทฯ ได้โอนทรัพย์สินรวมทั้งเงินสำรอง

ที่ได้ตั้งไว้สำหรับส่วนต่างระหว่างราคาที่พนักงานได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นกับราคาที่พนักงานซื้อจริงให้แก่

บริษัทผู้รับโอนเพื่อนำไปตั้งค้างจ่ายไว้ในบัญชีรอจ่ายหากพนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น (exercise) การ

โอนทรัพย์สินดังกล่าวให้ตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก และไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็น

รายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1) แห่ง

ประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6389 ลงวันที่ 09 กรกฎาคม 2546

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)