ให้ผู้จ่ายนำส่งภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทต่างประเทศทำการออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับในต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทต่างประเทศทำการออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับในต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับโครงการดอนเมือง โทลเวย์ กับ บริษัท ข. จำกัด และต่อมาบริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างช่วงงานคำนวณโครงสร้างดังกล่าวบางส่วน กับบริษัท เอ ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยบริษัท เอ เป็นบริษัทที่มี สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยจากการเข้ามารับจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1 ให้กับ กรมทางหลวง แต่ในส่วนของการรับจ้างช่วงดังกล่าว บริษัท เอ จะทำการออกแบบและคำนวณ โครงสร้างในต่างประเทศทั้งหมด และจะไม่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยแต่ อย่างใด บริษัทฯ ขอทราบว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้กับบริษัท เอ บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 83/6 (2), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505, อนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-เยอรมันแนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แยกพิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้ 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเงินได้จากการรับจ้างออกแบบและคำนวณโครงสร้างทางยกระดับที่บริษัท เอ ได้รับ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น แม้ว่าบริษัท เอ จะมีสถานประกอบการถาวรใน ประเทศไทย จากการเข้ามารับจ้างก่อสร้างทางหลวงกับกรมทางหลวงก็ตาม แต่โดยที่ในส่วนของการ รับจ้างออกแบบ และคำนวณโครงสร้างดังกล่าว บริษัท เอ จะทำงานในต่างประเทศทั้งสิ้น โดยไม่เกี่ยว ข้องกับสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยแต่อย่างใด ฉะนั้น กรณีดังกล่าว จึงไม่ถือว่าบริษัท เอ ให้บริการรับจ้างออกแบบและคำนวณโครงสร้างโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และ บริษัท เอ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าจ้างที่ได้รับตามสัญญารับจ้าง ออกแบบและคำนวณโครงสร้างทางยกระดับดังกล่าวตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้กับบริษัท เอ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าบริษัท เอ จะทำการออกแบบและคำนวณโครงสร้างทางยกระดับในต่างประเทศ ทั้งสิ้น แต่โดยที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการนั้นในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าว ให้กับบริษัท เอ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/15968 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 |