ให้ผู้จ่ายนำส่งภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับบริษัทต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับบริษัทต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัท ก. จำกัด ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาและให้บริการด้านวิศวกรรมโยธาแก่ หน่วยงานรัฐ โดยการประมูลงาน และให้บริการแก่บริษัทเอกชนโดยทั่วไป บริษัทฯ ได้ทำการจ้างเหมา ช่วงงานบริการกับบริษัทนิติบุคคลต่างประเทศที่ประเทศนอร์เวย์ และเมื่อถึงงวดที่ต้องชำระเงิน บริษัทฯ จะทำการโอนเงินผ่านธนาคารไปยังประเทศนอร์เวย์ ทุกครั้งที่มีการโอนเงินบริษัทฯ จะหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ 15% จากใบแจ้งหนี้ เพื่อชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.54 และบริษัทฯ จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% (1) การที่บริษัทฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% สำหรับเงินที่ส่งไปประเทศนอร์เวย์ เพื่อ ชำระค่าบริการ และนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.54 นั้น ถูกต้องหรือไม่ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% ที่นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 นั้น บริษัทฯ สามารถนำมาใช้ เป็นภาษีซื้อในเดือนที่มีการชำระได้หรือไม่ (3) ถ้าตามข้อ (1) บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% บริษัทฯ ยังคงต้อง ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ (2) อีกด้วยหรือไม่ และภาษีตามข้อ (1) ที่ชำระไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27 ตรี, มาตรา 83/6 (2), มาตรา 86/14แนววินิจฉัย(1) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย การที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าบริการให้กับนิติบุคคลในประเทศนอร์เวย์ สำหรับการ ให้คำปรึกษาและให้บริการด้านวิศวกรรมโยธา หากการให้บริการดังกล่าวไม่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้ เทคโนโลยีชั้นสูง ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตาม มาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรและเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ ตามนัย อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลแห่งประเทศนอร์เวย์ และหากนิติบุคคลในประเทศนอร์เวย์ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 แห่ง อนุสัญญาฯ นิติบุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้อง หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งแต่อย่างใด แต่เมื่อบริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วนิติบุคคลผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ย่อมมีสิทธิขอคืนภาษีได้ โดยยื่นคำร้องขอคืนภาษี ตามแบบค.10 ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่ วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธาในกรณีดังกล่าว เป็นการให้บริการใน ต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการในประเทศไทย นิติบุคคลในประเทศนอร์เวย์ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร และสิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ครอบคลุมเฉพาะภาษีที่ เก็บจากเงินได้เท่านั้น ไม่มีผลต่อการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด นอกจากนั้น การที่บริษัทฯ ได้นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่นิติบุคคลในประเทศ นอร์เวย์มีหน้าที่ต้องเสียตามแบบ ภ.พ.36 บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อมาใช้ในการคำนวณภาษีในเดือนที่ มีการนำส่งภาษีและได้รับใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้ โดยให้ถือใบเสร็จรับเงินเป็น ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม)/924 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 |