ใบลดหนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าแบบขายเผื่อชอบ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าแบบขายเผื่อชอบข้อเท็จจริงลูกค้าของบริษัทฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลูกค้าของบริษัทฯ จะใช้วิธีการขายสินค้าโดยวิธีพิเศษคือขายเผื่อชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและเป็นการส่งเสริมยอดขาย โดยจะจัดส่งสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อตรวจดูสินค้าก่อนและจะออกใบสั่งซื้อสินค้าในภายหลัง ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการสั่งซื้อได้อย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ซื้อ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. ลูกค้าของบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อทั้งจำนวน ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร หากต่อมาผู้ซื้อพอใจในสินค้าดังกล่าว อาจเป็นทั้งหมดหรือบางส่วนของสินค้าที่ส่งไป และอาจอยู่ในเดือนภาษีเดียวกันหรือคนละเดือนภาษี ผู้ซื้อจะจัดทำใบสั่งซื้อมายังลูกค้าของบริษัทฯ เพื่อให้ดำเนินการทางด้านเอกสารการขาย ลูกค้าของบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีอีกครั้ง โดยมีรายละเอียดและจำนวนของสินค้าตามใบสั่งซื้อของผู้ซื้อและส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้กับผู้ซื้อ รวมทั้งได้ออกใบลดหนี้อ้างอิงถึงใบกำกับภาษีฉบับแรกที่มีการส่งของ ทั้งนี้ ใบลดหนี้ดังกล่าวและใบกำกับภาษีฉบับแรกที่ลูกค้าของบริษัทฯ ได้ออกเมื่อครั้งส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อตรวจดูสินค้านั้น ผู้ซื้อมิได้นำไปใช้แต่อย่างใด ใช่หรือไม่ 2. สินค้าที่มียอดคงเหลืออยู่ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีของลูกค้าของบริษัทฯ เพราะยังมิได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อ สินค้าดังกล่าวถือเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้าของบริษัทฯ ลูกค้าของบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ เพราะการซื้อขายยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ใช่หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีลูกค้าของบริษัทฯ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อเพื่อให้ผู้ซื้อได้ตรวจดูสินค้าก่อนจะออกใบสั่งซื้อสินค้า หากผู้ซื้อพอใจในสินค้าดังกล่าว ผู้ซื้อก็จะตกลงซื้อสินค้าที่ส่งมอบ ซึ่งเป็นวิธีการขายเผื่อชอบตามมาตรา 505 และมาตรา 508 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นการซื้อขายลักษณะหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้าของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีลูกค้าของบริษัทฯ ส่งสินค้าให้ผู้ซื้อตรวจดูสินค้าก่อน หากผู้ซื้อพอใจในสินค้าดังกล่าวจึงจะออกใบสั่งซื้อ แต่หากผู้ซื้อไม่พอใจ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนของสินค้าที่ส่งไป ผู้ซื้อจะส่งสินค้าที่ไม่พอใจนั้นคืนให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ถือเป็นข้อตกลงในการซื้อขายสินค้า แต่ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าในการคืนสินค้า จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเหตุที่ลูกค้าของบริษัทฯ จะออกใบลดหนี้ได้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ดี ใบลดหนี้ที่ลูกค้าของบริษัทฯ ออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าตามข้อเท็จจริงนั้น ย่อมถือเป็นเอกสารทางบัญชีเพื่อปรับปรุงรายการทางบัญชีของลูกค้าของบริษัทฯ 2. กรณีการบันทึกรับรู้รายได้ทางบัญชี ลูกค้าของบริษัทฯ มีสิทธิบันทึกรับรู้รายได้ตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป แต่ในการรับรู้รายได้เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ลูกค้าของบริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 กล่าวคือ ลูกค้าของบริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4496 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 |