โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาด
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดข้อเท็จจริง1. บริษัทฯ ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ มีกรรมการบริษัทฯ 2 คน ได้แก่ นาย ธ. และนาย ส. บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก เนื้อที่ 9 ไร่ 78 ตารางวา จากบริษัท ป. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในราคา 5,000,000 บาท และได้แบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นจำนวน 9 แปลง บริษัทฯ ได้ขายที่ดิน น.ส.3 ก จำนวน 7 แปลง ราคาตารางวาละ 12,000 บาท และตารางวาละ 17,000 บาท เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 บริษัทฯ ได้ขายที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 58 ตารางวา ราคาตาราวาละ 6,500 บาท รวมเป็นเงิน 8,177,000 บาท ให้แก่ นางสาว ร. ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นภรรยาของนาย ธ. ที่ดินแปลงนี้ตกอยู่ในภาระจำยอม เรื่อง ทางรถยนต์ ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบโทรศัพท์ และเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2548 บริษัทฯ ได้ขายที่ดิน เนื้อที่ 3 งาน 37 ตารางวา ราคาตารางวาละ 6,500 บาท รวมเป็นเงิน 2,190,000 บาท ให้แก่นาย ส. 2. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 นาย ส. ได้ชี้แจงกรณีการโอนขายที่ดินในราคาต่ำกว่าราคาที่ขายให้บุคคลอื่น เนื่องจากเมื่อปี 2546 บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินแล้วแบ่งแยกเป็น แปลงย่อยเพื่อขาย ซึ่งรายงานที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2546 ตกลงให้บริษัทฯ กู้ยืมเงิน จากนาย ธ. และนาย ส. จำนวนเงินคนละ 3,000,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อนำไปซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดิน เมื่อบริษัทฯ มีรายได้แล้วจะต้องชำระคืน และบริษัทฯ ต้องขายที่ดินให้กรรมการในราคาตารางวาละ 6,500 บาท จึงได้มีการโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงในราคา ดังกล่าว กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่า บริษัทฯ โอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือ มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอน ตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีของบริษัทฯ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง เป็นที่ยุติเสียก่อนว่า เหตุผลที่บริษัทฯ กล่าวอ้างสามารถรับฟังได้หรือไม่ ในชั้นนี้จึงไม่มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่กรมสรรพากรจะพิจารณาให้ได้แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/6251 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551 |