แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของอาจารย์ชาวต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของอาจารย์ชาวต่างประเทศข้อเท็จจริงโรงเรียนนานาชาติ ได้จ้างอาจารย์ชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานสอนหนังสือประจำใน ประเทศไทย ขอทราบว่า 1. กรณีอาจารย์ชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนหนังสือประจำ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย นั้น อาจารย์ดังกล่าว จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร 2. กรณีอาจารย์ดังกล่าวได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากออกจากงาน จะได้ รับยกเว้นภาษีเงินได้ด้วยหรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 41, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538แนววินิจฉัย1. กรณีเงินเดือนที่อาจารย์ชาวต่างประเทศได้รับ เนื่องจากเงินได้จากการเข้ามาสอนหนังสือประจำที่โรงเรียนนานาชาติดังกล่าว เข้า ลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานในประเทศไทย แต่โดยที่เงินได้นั้นจ่ายโดยนายจ้าง ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ใน ประเทศไทย ดังนั้นอาจารย์ชาวต่างประเทศดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ บทของอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และมีหน้าที่ต้องนำเงินเดือนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็น เงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหากเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่อาจารย์ชาว ต่างประเทศได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้ (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ และ (ก) เป็น สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ (ข) เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี (2) กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดง ความเห็นว่าลูกจ้างผู้นั้น ไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าเหตุทุพพลภาพ นั้นจะเกิดเนื่องจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ก็ตาม (3) กรณีตาย ไม่ว่าการตายนั้นจะเกิดจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องมีหลักฐานจากนายจ้างเพื่อรับรองว่าลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย แล้วแต่กรณีมาแสดงด้วย เงินได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/10078 ลงวันที่ 02 กรกฎาคม 2541 |