Skip to Content

แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุ

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุ


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสีพ่นพลาสติก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีนาย ย.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ

2. บริษัท น. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในต่างประเทศได้มีข้อตกลงกับบริษัทฯ ให้บริษัท น. ส่งผู้บริหารและช่างฝีมือมาปฏิบัติงานประจำ ณ บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้แก่ผู้บริหารและช่างฝีมือนั้นดังนี้

2.1 เงินเดือนและผลประโยชน์อื่นที่จ่ายในประเทศไทย

2.2 เงินเดือนและผลประโยชน์อื่นที่บริษัทฯ ต้องส่งไปยังบริษัท น. เพื่อทำการเข้าบัญชีของผู้บริหารและช่างฝีมือที่ต่างประเทศ

บริษัทฯ ได้ทำการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือนทั้ง 2 กรณีแล้ว และนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.1 ทุกเดือน

3. นาย ย. ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และเป็นผู้บริหารที่บริษัท น. ส่งมาปฏิบัติงานประจำ ณ บริษัทฯ ได้เริ่มปฏิบัติงานที่บริษัทฯ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2549 โดยขณะนั้นได้รับเงินเดือนตาม 2.1 เพียงกรณีเดียว แต่ต่อมาเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2551 บริษัทฯ และบริษัท น. มีข้อตกลงให้บริษัทฯ จ่ายเงินเดือนตาม 2.2 เพิ่มเติมด้วย

4. บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีผลประโยชน์อื่นตาม 2.2 ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่นาย ย. นั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุ ซึ่งนาย ย. จะยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวจนกว่าจะเกษียณอายุ โดยบริษัท น. จะเป็นผู้เก็บไว้ให้แก่นาย ย. ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นาย ย. มีอายุครบ 60 ปี และเกษียณอายุ จึงได้รับเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุดังกล่าว โดยบริษัท น. เป็นผู้จ่ายเงินทั้งหมดให้แก่นาย ย. ณ ต่างประเทศ และไม่ได้มีการนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยแต่ อย่างใดนั้น นาย ย. จะต้องนำเงินได้ค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุที่ได้รับดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2552 หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีที่บริษัท น. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในต่างประเทศ ส่งนาย ย. ผู้บริหารของบริษัทในต่างประเทศเข้ามาเป็นกรรมการ ของบริษัทฯ เมื่อปี 2549 นั้น โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นให้แก่นาย ย. ทั้งที่จ่ายในประเทศไทย และที่ส่งไปให้แก่ บริษัท น. ที่ต่างประเทศ นั้น ถือได้ว่า นาย ย. มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท น. จ่ายเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุให้แก่นาย ย. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินผลประโยชน์ อื่นที่บริษัทฯ จ่ายให้นาย ย. เนื่องจากหน้าที่งานในประเทศไทย หากนาย ย. ได้นำมาเสียภาษี และบริษัทฯ ได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.1 แล้ว นาย ย. จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าสำรองสำหรับเกษียณอายุในส่วนที่บริษัทฯ จ่ายให้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/4941 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)