Skip to Content

แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบริษัทแม่ในต่างประเทศเสนอหุ้นให้พนักงานในประเทศโดยไม่มีค่าตอบแทน

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบริษัทแม่ในต่างประเทศเสนอหุ้นให้พนักงานในประเทศโดยไม่มีค่าตอบแทน


ข้อเท็จจริง

บริษัท บ. เป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายไทย และประกอบธุรกิจใน

ประเทศไทย โดยมีบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลีย (บริษัทแม่) ซึ่งเป็น

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ 75% ทั้งสองบริษัท

ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก เช่น เหล็กรีดเย็น เหล็กเคลือบโลหะ เหล็กเคลือบสี

โดยบริษัทแม่และบริษัทฯ ต่างฝ่ายต่างผลิตสินค้า และไม่มีสัญญาว่าจ้างให้ผลิตสินค้าให้แก่กัน ต่อมาบริษัท

แม่มีความประสงค์ที่จะเสนอหุ้นของบริษัทแม่ให้กับพนักงานของกลุ่มบริษัทในเครือทั่วโลกรวมถึงพนักงานใน

ประเทศไทย โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่ประการใด วัตถุประสงค์การให้หุ้นดังกล่าวเพื่อจูงใจให้พนักงาน

ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทต่อไป หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้พนักงานของบริษัทฯ มีรายละเอียดและเงื่อนไขดัง

ต่อไปนี้

1. พนักงานจะได้รับสิทธิในหุ้นของบริษัทแม่จำนวน 200 หุ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ

บริษัทแม่

2. บริษัทฯ เป็นนายจ้างโดยตรงของพนักงานในประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ

ในต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ของหุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้กับพนักงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด

3. บริษัทแม่ ให้สิทธิในหุ้นดังกล่าวแก่พนักงานของบริษัทฯ โดยกำหนดเงื่อนไขภายใต้

หลักเกณฑ์ของตลาดหุ้นในประเทศออสเตรเลียไว้ว่า ในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่เสนอหุ้นให้กับ

พนักงานนั้น พนักงานไม่มีสิทธิที่จะโอนขายหุ้นที่ได้รับหากไม่ได้รับความยินยอมและอนุมัติจากบริษัทแม่ แต่

ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลรวมถึงมีสิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นดังกล่าว

4. ภายในระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว หากพนักงานลาออก หรือหมดสถานภาพในการเป็น

พนักงานของบริษัทฯ หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้นั้น จะถูกยกเลิกและกรรมสิทธิ์ของหุ้นเหล่านั้นจะถูกโอนให้กับ

บริษัทแม่อย่างไม่มีเงื่อนไข

5. กรณีพนักงานลาออกหรือหมดสภาพในการเป็นพนักงานภายในระยะเวลา 3 ปีบริษัทแม่ใน

ฐานะผู้ออกหุ้นจะเป็นผู้มีสิทธิขาดในการจัดการโอนหรือขายหุ้นที่ออกนั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไป โดยพนักงาน

จะไม่มีสิทธิโต้แย้ง ผลประโยชน์ใด ๆ อันเนื่องจากการโอนหรือขายหุ้น ดังกล่าว จะถือว่าเป็นเงินได้

ของบริษัทแม่ โดยพนักงานจะไม่มีสิทธิในผลประโยชน์ดังกล่าวหรือได้รับเงินชดเชยจากบริษัทแม่แต่

อย่างใด

บริษัทฯ หารือว่า

1. พนักงานของบริษัทฯ ได้รับหุ้นของบริษัทแม่ ถือเป็นเจ้าของหุ้นตามกฎหมายนับจากวันที่

ตอบรับข้อเสนอแล้ว พนักงานจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้นอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพนักงานจะไม่มีสิทธิ์ใน

การขายหุ้นนั้นภายในระยะเวลา 3 ปี และหากพนักงานพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ก่อน 3 ปีนับ

จากวันที่รับโอนหุ้น พนักงานจะต้องคืนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัทแม่โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น เมื่อ

พนักงานตอบรับข้อเสนอและรับโอนหุ้นจากบริษัทแม่ หุ้นที่พนักงานได้รับนั้น ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน

ตามกฎหมาย ถูกต้องหรือไม่

2. หากการรับโอนหุ้นนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างใน

ประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในต้นทุนของหุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้กับพนักงานนั้น ผลประโยชน์จากหุ้น 200

หุ้นของบริษัทแม่ที่พนักงานได้รับนั้น เป็นหุ้นของบริษัทแม่ ดังนั้น ผลประโยชน์จากการได้รับโอนหุ้นดังกล่าว

จะถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศ และตามมาตรา 41 แห่ง

ประมวลรัษฎากร พนักงานจะต้องรวมผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก็ต่อเมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ และพนักงานได้อยู่ใน

ประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

3. เมื่อพนักงานได้รับเงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว หรือได้ขายหุ้นภายหลังจากระยะเวลา 3 ปีที่

กำหนดแล้ว มีกำไรจากการขายหุ้น เงินปันผลหรือกำไรดังกล่าวจะต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี

ถ้าพนักงานได้นำเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกับที่พนักงาน

ได้รับเงินปันผลหรือกำไรนั้น รวมทั้งพนักงานได้อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีเดียวกันนั้น

ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(1), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, มาตรา 41 วรรคสอง

แนววินิจฉัย

1. เนื่องจากการที่พนักงานได้รับหุ้นจากบริษัทแม่ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นผลมาจากการ

เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ดังนั้น กรณีจึงถือว่าหุ้นที่ได้รับเป็น

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำใน

ประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวม

คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. กรณีที่พนักงานได้รับเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้น

จากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้

เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้นั้น และผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยใน

ปีภาษีนั้นด้วย ตามข้อเท็จจริง หากพนักงานนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับ

เงินได้ และพนักงานได้อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีดังกล่าว พนักงานจะต้องนำเงินได้

นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7560 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2547

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)