Skip to Content

แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีคนต่างด้าวที่มิได้ปฏิบัติงานประจำในประเทศไทย

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีคนต่างด้าวที่มิได้ปฏิบัติงานประจำในประเทศไทย


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ จดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรควบคุมการทำงานของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์โดยมีบริษัทตั้งอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือร้อยละ 99.98 บริษัทญี่ปุ่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคการผลิตชาวญี่ปุ่นให้เข้ามาดูแลการผลิตของบริษัทฯ ในประเทศไทย โดยบริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้จ่ายเงินเดือน และผู้เชี่ยวชาญมีความประสงค์จะนำเงินได้ที่เป็นสกุลเงินเยนที่ได้รับในประเทศญี่ปุ่นมาชำระภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. ผู้เชี่ยวชาญอยู่ปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลารวมกันเกิน 180 วัน

2. ผู้เชี่ยวชาญอยู่ปฏิบัติงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 180 วัน

3. หากบริษัทฯ จะเป็นผู้ชำระภาษีเงินได้แทนผู้เชี่ยวชาญ และจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนของวันใดในการคำนวณเปลี่ยนค่าเป็นเงินบาท


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 9 มาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลาถึง 180 วันหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานในประเทศไทยไม่ว่าจะได้จ่ายในหรือนอกประเทศมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้อื่นๆ ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจะมีหน้าที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ก็ต่อเมื่ออยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วัน และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกับที่ได้รับเงินได้นั้นๆ โดยในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้คำนวณตามหลักเกณฑ์และเสียภาษีตามอัตราที่ได้กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้ในประเทศไทยแทนผู้เชี่ยวชาญ เงินภาษีที่บริษัทฯ ได้ชำระแทนผู้เชี่ยวชาญและนำส่งแล้วนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้เชี่ยวชาญ ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ต้องนำมารวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับเนื่องการทำงานเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ในการยื่นเสียภาษีให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3150 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)