แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีของพนักงานองค์การรัฐบาลต่างประเทศในประเทศไทย
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีของพนักงานองค์การรัฐบาลต่างประเทศในประเทศไทยข้อเท็จจริงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีของพนักงานองค์การรัฐบาลต่างประเทศในประเทศไทย ข้อหารือราย ศูนย์สำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3(2) มาตรา 40(1) มาตรา 41 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2509แนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นแยกพิจารณาได้ดังนี้ี 1. กรณีองค์การรัฐบาลต่างประเทศจ้างบุคคลสัญชาติไทยหรือพนักงานต่างประเทศ ปฏิบัติงานในฐานะลูกจ้างให้กับองค์การรัฐบาลต่างประเทศในประเทศไทย โดยพนักงานและลูกจ้างดังกล่าวได้รับเงินเดือน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีกรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด 2. กรณีพนักงานคนไทยหรือพนักงานต่างประเทศขององค์การรัฐบาลต่างประเทศยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 3(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ2500 ดังนั้น บุคคลดังกล่าวต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากองค์การรัฐบาลต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่เงินได้พึงประเมินนั้นมีกฎหมายให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ 2.1 ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปในการนั้นทั้งหมด ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 ค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมด โดยจำเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 42 (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2.3 เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับ (ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย (ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติ การตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราวทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ตามข้อ 2 (4) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 2.4 เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง ในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี ตามข้อ 2 (34) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 2.5 เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง เฉพาะส่วนที่เกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 290,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ตามข้อ 2 (35) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 2.6 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามข้อ 2 (36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 3. ชื่อองค์การ หรือหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่10) พ.ศ. 2500 มีดังนี้ (1) บุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ (2) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การ หรือทบวงการดังกล่าว ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง (3) สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคลในคณะทูตบุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/609 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 |