แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอลดหย่อนภาษีเงินได้ของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอลดหย่อนภาษีเงินได้ของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นข้อเท็จจริงมหาวิทยาลัย ก. ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือในการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับ บริษัท A จากประเทศญี่ปุ่น เรื่อง "Termite Symbion Bio-recycle Project" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัย พัฒนา สร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการวิจัย เกี่ยวกับปลวก ระหว่างนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยฯ และนักวิจัยจาก บริษัท A โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ระหว่างปี 2542-2547 ในระหว่างการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว บริษัท A ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำในประเทศไทย โดยตกลงรับผิดชอบค่าครองชีพและสวัสดิการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานวิจัยทั้งหมด ดังนั้น เพื่อ ให้การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวสามารถดำเนินต่อไปได้ และเป็นการดำเนินงานเพื่อ ประโยชน์ในด้านวิจัยทั้งของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยฯ จึงขอหารือกรมสรรพากรใน การพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการพิจารณาลดหย่อนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับ ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40, มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505ฯแนววินิจฉัย1. กรณีนักวิจัยจาก บริษัท A คนใดมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่หรือกิจการที่ทำใน ประเทศไทย ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว นักวิจัยดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษี เงินได้ บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี ตามข้อ 18 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ได้ กำหนดให้ ศาสตราจารย์ ครู และนักวิจัย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาทำการสอน หรือวิจัยตาม คำ เชิญของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาอื่นอันเป็นที่รับรองแล้วในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำการสอนหรือวิจัยใน สถาบันการศึกษาดังกล่าว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินค่าตอบแทนการสอนหรือ วิจัยนั้น ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ การสอนหรือการค้นคว้าวิจัยดังกล่าวจะต้องมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์แก่เอกชนคนเดียว หรือหลายคนโดยเฉพาะ ดังนั้น หากนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาทำการสอนหรือวิจัยตามคำเชิญของทาง มหาวิทยาลัยฯ มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เข้ามาปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าว มิได้เดินทางออกจาก ประเทศไทยก่อนหรือเมื่อครบกำหนด 2 ปีแล้ว ย่อมมีผลทำให้ระยะเวลาการเข้ามาเยือนเกินกว่า 2 ปี และทำให้นักวิจัยเหล่านั้นมิได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่แรกที่เข้ามาเยือน ประเทศไทย 2. กรณีหากนักวิจัยชาวญี่ปุ่นดังกล่าวมิได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ประเทศไทยตามข้อ 1 ข้างต้นแล้ว เงินได้หรือค่าตอบแทนจากการวิจัยดังกล่าวย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้อง เสียภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ โดยถือว่า นักวิจัยชาวญี่ปุ่นผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้ นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตามการที่จะลดหรือยกเว้นภาษีอากรให้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือกิจการใด นั้น จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาลดหรือยกเว้นเป็นกรณีไป กรมสรรพากรจึงมิอาจพิจารณาลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจากบริษัท A เป็นการเฉพาะราย เนื่องจากไม่มีกฎหมายใด ให้อำนาจกรมสรรพากรกระทำเช่นนั้นได้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/4153 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 |