แหล่งเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ้างแรงงานต่างด้าว
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ้างแรงงานต่างด้าวข้อเท็จจริงบริษัท อ. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดตาก บริษัทฯ จ้างลูกจ้างซึ่งเป็น คนต่างด้าวและได้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกคน ในการจ้างลูกจ้าง บริษัทฯ มิได้มีการทำสัญญาจ้าง แต่มีการกรอกใบสมัครงานและอยู่ภายใต้ระเบียบของบริษัทฯ โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน บริษัทฯ ขอทราบว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง บริษัทฯ จะมีหน้าที่หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ และเมื่อสิ้นปีลูกจ้างต้องยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(1) มาตรา 41 มาตรา 50(1) มาตรา 48 และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยเนื่องจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ เป็นเงินได้จากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากการจ้างลูกจ้างเข้าลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ เงินได้ที่ลูกจ้างได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้ พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษี ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หัก ภาษีไว้จำนวนเท่านั้น ทั้งนี้ หากในปีภาษีดังกล่าว ลูกจ้างมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ลูกจ้างดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/1621 ลงวันที่ 18 เมษายน 2551 |