แหล่งเงินได้/ถิ่นที่อยู่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีรายได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีรายได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัท ก. ได้รับมอบอำนาจจาก นาย ช. ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานผู้แทน ฮ. ในประเทศไทย โดยนาย ช. ได้รับค่าตอบแทนจากตำแหน่งดังกล่าวในอัตราเดือนละ 12,000 บาท สำนักงานผู้แทนฯ ในประเทศไทยได้ชำระค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นสกุลเงินบาท และโอนเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทยของนาย ช. ทุกเดือน นอกจากหน้าที่งานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานผู้แทนฯ ในประเทศไทยแล้ว นาย ช. ยังปฏิบัติงานในตำแหน่ง South East Asian Sales Support Manager ซึ่งไม่ได้เป็นงานที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานผู้แทนฯ แต่อย่างใด และสำนักงานผู้แทนฯ ไม่มีหน้าที่ในการชำระค่าตอบแทนจากหน้าที่งานในตำแหน่ง South East Asian Sales Support Manager สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระค่าตอบแทนดังกล่าวโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารในประเทศเยอรมันของนาย ช. ทุกเดือน ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นาย ช. มิได้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี 2542 ถึงปีภาษี 2545 แต่อย่างใด บริษัท ก. จึงหารือว่า ค่าตอบแทนจากหน้าที่งานในตำแหน่ง South East Asian Sales Support Manager ของนาย ช. เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไมี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีค่าตอบแทนจากหน้าที่งานในตำแหน่ง South East Asian Sales Support Manager ในต่างประเทศของนาย ช. หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน้าที่งานดังกล่าวไม่ได้เป็นงานที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานผู้แทนฯ ของตนในประเทศไทยแล้ว ย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากในปีภาษีที่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศได้ชำระค่าตอบแทนดังกล่าว โดยนาย ช. อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีนั้น หรือหากในปีภาษีที่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศได้ชำระค่าตอบแทนดังกล่าว นาย ช. อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีนั้นตามนัยมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกัน นาย ช.ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับในปีภาษีนั้นแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค0706/2940 ลงวันที่ 10 เมษายน 2549 |