แปลงเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงลูกค้าของบริษัทฯ คือ บริษัท A เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและได้รับการ ส่งเสริมการลงทุนในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลาแปด ปีนับแต่เดือนพฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มมีรายได้จากกิจการส่งเสริมการลงทุน ในระหว่างเดือน มีนาคม ถึงธันวาคม พ.ศ. 2540 บริษัท A ได้กู้ยืมเงิน จำนวนเงิน 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก ธนาคารในประเทศเพื่อใช้ซื้อเครื่องจักรมาผลิตสินค้าตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว บริษัท A ต้องผ่อนชำระคืนเงินกู้ปีละ 2 ครั้งในเดือนมีนาคมและกันยายนของแต่ละปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ถึง พ.ศ. 2547 รวม 10 งวด บริษัท A มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 มีผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินกู้ที่มีค่าเป็นเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินบาท ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงิน 260 ล้านบาท และได้ใช้สิทธิเลือกหักผลขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวตามส่วนแห่งมูลค่าเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระคืนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ.2547 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจาก การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งผลขาดทุนดังกล่าวจะ ทยอยหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในระหว่างเวลาที่ได้สิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2541 ถึงพฤษภาคม 2549 จึงขอหารือว่าผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ทยอยตัดจ่ายตามข้อ 2(1) ของ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.72/2540 ฯ ระหว่างปี พ.ศ.2543 ถึง พ.ศ. 2547 ถือเป็นรายจ่ายที่จะ ต้องนำไปหักจากรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการคำนวณกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (5)แนววินิจฉัย1. กรณีการเลือกคำนวณหักผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตามส่วนแห่งมูลค่าทรัพย์สินหรือ หนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกดังกล่าวเป็นต้นไปตามข้อ 2(1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ บริษัท A ต้องจ่ายชำระหนี้เป็นงวด ๆ และมีการ จ่ายชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ด้วย กรณีตาม ข้อเท็จจริงบริษัท A เริ่มชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 เป็นต้นไป จึงไม่มีสิทธิ เฉลี่ยรายจ่ายผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตามข้อ 2(1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวได้แต่ อย่างใด 2. กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นรายจ่ายที่เกิดจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนใน รอบระยะเวลาบัญชีของปี 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่บริษัท A เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุน ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ถึงแม้บริษัท A มีสิทธิเลือกนำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จาก กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.72/2540 ฯ ก็ตาม รายจ่าย ดังกล่าวจึงถือเป็นรายจ่ายจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/ก.1325 ลงวันที่ 05 ตุลาคม 2543 |