Skip to Content

แปลงเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการบันทึกบัญชีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการบันทึกบัญชีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้เงินเมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 80 ล้าน us$ โดยมี

อายุหนี้ 14.5 ปี ปลอดหนี้ 2 ปี การชำระหนี้ในสัญญาได้กำหนดเป็นร้อยละของมูลค่าหนี้ในแต่ละปีไว้

ปัจจุบันบริษัทฯได้เบิกเงินกู้มาใช้เป็นจำนวนเงิน 20,370,000 us$ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง

โรงงานเป็นเงินจำนวน 19,446,050 us$ และใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไปเป็นเงินจำนวน

923,950 us$ ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทลอยตัวของเงินกู้นี้ ณ วันที่ 31/12/40 เป็นเงิน

จำนวนรวมทั้งสิ้น 174,667,800 บาท โดยเป็นผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง

โรงงานเป็นเงิน 166,150,008 บาท และจากค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไปเป็นเงิน 8,517,792

บาท บริษัทฯ ได้เลือกวิธีข้อ 2 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่อง การปฏิบัติ

เกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เนื่องจากการปรับปรุงระบบ

การแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1 วิธีการที่บริษัทฯ เลือกใช้ถูกต้องตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ

ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 หรือไม่ สำหรับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของงานก่อสร้าง

บริษัทฯ จะรวมไว้เป็นต้นทุนงานก่อสร้าง และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าใช้จ่ายก่อนการ

ดำเนินงานจะนำมาแสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่ในปี ค.ศ. 1997 และ 1998 บริษัทฯ ไม่มีภาระ

หนี้สินที่ต้องชำระ จึงไม่มีผลขาดทุนจำนวนนี้ปรากฏในงบกำไรขาดทุน

2 รอบระยะบัญชีของบริษัทฯ ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม 2540 อัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัทฯ

จะนำมาใช้ ณ วันสิ้นรอบบัญชี ควรจะใช้อัตราใด ระหว่างอัตราของกรมสรรพากร อัตราของ

ธนาคารแห่งประเทศไทย และอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศใช้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ (5), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540

แนววินิจฉัย

1 ตามข้อเท็จจริง หนี้สินตามสัญญากู้ดังกล่าวซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทฯ จะ

ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากมีผลกำไรหรือขาดทุนจากการ

ตีราคาหนี้สินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา

65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540

เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เนื่องจาก

การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

2 เนื่องจากตามข้อเท็จจริงข้างต้น การกู้เงินตามสัญญาดังกล่าวเป็นการกู้เงินระยะ

ยาวเป็นระยะเวลา 14.5 ปี ถือเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุน ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้นำเงินตามสัญญากู้

ดังกล่าวไปใช้เป็นต้นทุนในงานก่อสร้างโรงงาน บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น

จากการก่อสร้างโรงงานมารวมเป็นต้นทุนทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตาม

มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรได้

3. กรณีบริษัทฯ อ้างว่าได้นำเงินกู้ตามสัญญาเงินกู้ระยะยาวมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายก่อน

การดำเนินงานนั้น แม้จะมีหลักฐานการจ่ายเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่กรณีเป็นการยากที่

จะพิสูจน์ว่าตัวเงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายนั้น จะเป็นเงินที่กู้มา เพราะโดยปกติการกู้เงินตามสัญญาเงินกู้ระยะ

ยาวจะเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุน อีกทั้ง บริษัทฯ อาจจะใช้เงินทุนหมุนเวียนซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ

เองก็ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยถึงผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายว่า

บริษัทฯ จะเลือกใช้วิธีตามข้อ 2 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24

กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ได้หรือไม่

4. กรณีบริษัทฯ มีทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่

เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65

ทวิ (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรกล่าวคือ หากเป็นเงินตราหรือทรัพย์สิน ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยที่

ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ หากเป็นหนี้สิน ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยที่

ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/08464 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2541

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)