Skip to Content

เช่าแบบลิสซิ่ง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง


ข้อเท็จจริง

1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และกิจการโรงแรม

2. ห้างฯ ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่งยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น T5 ปี 2004 จดทะเบียนเป็นประเภท รย.2 รถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง โดยมีระยะเวลาการเช่า 48 เดือน และมีสิทธิที่จะซื้อคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า

3. ห้างฯ ขอทราบว่า

3.1 "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง" ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตซึ่งเป็นประเภท รย.2 กับ" ประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน" ตามมาตรา 4(2)แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 มีข้อแตกต่างกันอย่างไร

3.2 การจัดประเภทรถยนต์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 4(1) และ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 ใช่หรือไม่

3.3 ห้างฯ จะนำค่าเช่าไปถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ถูกต้องหรือไม่

3.4 ห้างฯ นำภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าเช่าแต่ละงวด ไปถือเป็นภาษีซื้อได้ทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะถือเป็นภาษีซื้อได้จำนวนเท่าใด

3.5 ภาษีมูลค่าเพิ่มของเงินประกันการเช่าจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่

3.6 เมื่อครบกำหนดเวลาการเช่า และห้างฯ ได้ใช้สิทธิซื้อรถในราคาตกลงตามสัญญา

(ก) ภาษีซื้อ จากการซื้อรถยนต์ดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามหรือไม่

(ข) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ดังกล่าวต้องหักจากราคาใด ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315)

แนววินิจฉัย

1.กรณีตาม 3.1 รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 หมายความถึง รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527

2. กรณีตาม 3.2 3.3 3.4 และ3.5 หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างฯ ได้ชำระค่าเช่ารถยนต์ยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น T5 ปี 2004 โดยมีรายการจดทะเบียนเป็นประเภทรถตู้นั่งสี่ตอนจำนวนที่นั่งสิบเอ็ดคน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เพื่อนำไปใช้ในกิจการของห้างฯ ห้างฯ จึงมีสิทธินำค่าเช่า มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 และมีสิทธินำภาษีซื้อจากค่าประกันและค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าว ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/ 3 และมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3.6 ห้างฯ ได้ใช้สิทธิซื้อรถยนต์ในราคาที่ตกลงตามสัญญาจากผู้ให้เช่าลิสซิ่ง ถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างฯ ซึ่งห้างฯ ต้องนำมูลค่าราคาที่ซื้อรถยนต์โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะที่ครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าลิสซิ่งดังกล่าว มาเป็นต้นทุนทรัพย์สินเพื่อนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145)ฯ พ.ศ. 2527




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5768 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)