เงินได้/ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้จากการจ้างแรงงาน
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้จากการจ้างแรงงานข้อเท็จจริงสิบเอก ส. ได้หารือกรณีมีเงินได้จากเงินเดือนและค่านายหน้าจากบริษัท ท. โดยสิบเอก ส. ได้รับเงินเดือนจากบริษัท ท. สำนักงานใหญ่ เป็นเงิน 211,600 บาท และได้รับค่านายหน้าจาก บริษัท ท. สาขาเชียงราย เป็นเงิน 1,270,090 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,481,690 บาท และได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน 109,919 บาท สิบเอก ส. ได้นำเงินได้ทั้งหมดมายื่นเสียภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.91 โดยถือเสมือนเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็น เงินได้ที่ได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(1), มาตรา 77/1(10), มาตรา 81(1)(ฐ)แนววินิจฉัย1. สิบเอก ส. มีรายได้จากเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เข้าลักษณะ เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีรายได้จาก ค่านายหน้าจากบริษัท ท. สาขาเชียงราย เนื่องจากบริษัทฯ และสาขาของบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลเดียวกัน จึงถือได้ว่า สิบเอก ส. มีรายได้จากเงินเดือนและค่านายหน้าจากบริษัทฯ นายจ้างเดียวกัน ดังนั้น จึง ถือได้ว่า ค่านายหน้าดังกล่าวเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร โดยต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมยื่นเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.91 ตามมาตรา 42 ทวิ และมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจาก ปีภาษีที่มีเงินได้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร 2. การประกอบกิจการนายหน้าของ สิบเอก ส. ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานจึงได้รับ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4108 ลงวันที่ 02 พฤษภาคม 2546 |