Skip to Content

เงินได้พึงประเมิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีประโยชน์เพิ่มของพนักงานจากเบี้ยประกันชีวิต

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีประโยชน์เพิ่มของพนักงานจากเบี้ยประกันชีวิต


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับการทำสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีข้อกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันกับบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิต สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

1. บริษัทฯ กำลังจะเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร (ธนาคารฯ) ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายของรัฐบาลและเนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งความอยู่รอดของธุรกิจขึ้นอยู่กับกรรมการซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคารฯ จึงได้กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้กู้ ต้องทำประกันชีวิตกับบริษัทที่ประกอบกิจการประกันชีวิต โดยใช้กรมธรรม์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารฯ

2. กรมธรรม์ดังกล่าว จะกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้เอาประกันแต่เพียงผู้เดียว และจะผูกเงื่อนไขการชำระค่าสินไหมทดแทนบนสาเหตุมรณกรรมของกรรมการ ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตจะได้รับอนุมัติจากกรมการประกันภัยให้ออกกรมธรรม์โดยระบุชื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เอาประกันได้ และธนาคารฯ จะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว

3. ในกรณีที่กรรมการถึงแก่ความตาย และบริษัทประกันชีวิตได้รับหลักฐานการพิสูจน์มรณกรรมของกรรมการแล้ว บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารฯ เท่ากับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 1 และผลประโยชน์ที่เหลือจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่ 2 ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

4. บริษัทฯ จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตจะออกใบเสร็จในนามบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นคู่สัญญาภายใต้กรมธรรม์และเป็นผู้เอาประกันตามกรมธรรม์

บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีบริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ดังกล่าว เบี้ยประกันภัยนั้นจะถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการหรือไม่ อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

เนื่องจากการทำประกันชีวิตดังกล่าว เป็นการทำประกันชีวิตเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ โดยกรมธรรม์ระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้เอาประกัน อีกทั้งผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ได้แก่ธนาคารฯ และบริษัทฯ ส่วนกรรมการหรือบุคคลในครอบครัวมิได้เป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ จากกรมธรรม์ ดังนั้น เบี้ยประกันภัยที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับบริษัทประกันชีวิต จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5745 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)